ก.ค.ศ.เคาะเกณฑ์วิทยฐานะใหม่เริ่มใช้5 ก.ค.นี้



#showpic

บอร์ด ก.ค.ศ.เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะแบบใหม่ ยืนยันประกาศใช้ 5 ก.ค.นี้ และมีผลทันที

วันนี้ (30มิ.ย.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ( ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) วาระพิเศษ ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการร่างหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะแบบใหม่ และ ยืนยันจะประกาศใช้ในวันที่ 5 ก.ค.นี้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในทันที โดยได้มีการปรับปรุงรายละเอียดในส่วนของชั่วโมงการปฏิบัติงานสอน และแบบประเมินวิทยฐานะ จากที่กำหนดไว้ 800 ชั่วโมงต่อปี เป็นการนับชั่วโมงโดยยืดหยุ่นตามสภาพการจัดการสอนของครูแต่ละสังกัด เพราะมีวิธีการสอนที่แตกต่างกัน ส่วนเอกสารหลักฐานที่นำมาใช้ประกอบการประเมิน จะต้องสอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง ไม่ดึงครูออกนอกห้องเรียน และต้องไม่เพิ่มภาระให้แก่ครู ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ไปดำเนินการปรับปรุงตามหลักการดังกล่าว

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้มอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ไปตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้น เพื่อทำหน้าที่สร้างความรู้ ความเข้าใจ และตอบปัญหาเกี่ยวกับการขอมี หรือ ขอเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ใหม่ โดยในบทเฉพาะกาล จะกำหนดรายละเอียดการประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 1.ผู้ที่บรรจุก่อนวันที่ 5 ก.ค.2560 ได้แก่ กรณีได้ยื่นคำขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ตามหลักเกณฑ์ ว17/2552 ไว้ก่อนแล้ว และยังไม่ทราบผลการพิจารณา ซึ่งถ้าผลการพิจารณาอนุมัติก็สามารถยื่นขอเลื่อนวิทยฐานะถัดไปได้ ในหลักเกณฑ์ ว17 ได้อีก 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคุณสมบัติครบ แต่ถ้าผลไม่อนุมัติ ก็สามารถยื่นขอเลื่อนวิทยฐานะในหลักเกณฑ์ ว17 ได้อีก 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติ และ กรณีคุณสมบัติที่จะครบ ซึ่งจะยื่นขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะได้ หลังวันที่ 5 ก.ค.2560 สามารถยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์ ว17 ได้อีก 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคุณสมบัติครบ และ 2. ผู้ที่บรรจุหลัง วันที่ 5 ก.ค.2560 ให้ยื่นขอตามหลักเกณฑ์ใหม่เท่านั้น

“บทเฉพาะกาลจะดูแลครูทุกกลุ่ม แต่ประเด็นส่วนใหญ่ที่ครูเป็นห่วง คือ เรื่องของสิทธิในระยะเวลาการขอวิทยฐานะ โดยเฉพาะครูวิทยฐานะชำนาญการ เดิมจะขอเลื่อนวิทยฐานะชำนาญพิเศษ ใช้เวลา 1 ปีแต่เกณฑ์ใหม่ใช้เวลา 5 ปี ซึ่งที่ประชุมได้หารือในประเด็นนี้ มีการอภิปรายว่าแม้หลักการจะระบุ 1 ปี แต่จากสถิติไม่เคยมีใครทำได้ ส่วนใหญ่ใช้เวลา 4-7 ปี ในการพัฒนาตนเองเพื่อให้ได้วิทยฐานะชำนาญพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากสำนักงาน ก.ค.ศ.ว่ามีครูที่มีวิทยฐานะชำนาญการ ที่อายุราชการเกิน 5 ปีประมาณ 3 หมื่นคน และครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ อายุราชการเกิน 10 ปีประมาณ 1 หมื่นคน ที่ไม่ได้ทำผลงานเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะต่อด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้จะได้ประโยชน์ สามารถยื่นขอประเมินวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ใหม่ทันที ไม่ต้องทำผลงานวิชาการให้ยุ่งยาก”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2560 เวลา 16.45 น.

 

โพสต์เมื่อ 30 มิ.ย. 2560 อ่าน 35396 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 5178]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 429]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1130]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 18629]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 969]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)