แนะใช้ห้องเรียนสีเขียวสอนเด็กคิดเป็น



#showpic

ชูห้องเรียนสีเขียวเปลี่ยนการสอนครู ใช้กิจกรรมกระตุ้นวุฒิภาวะนักเรียน สอนให้เด็กคิดเป็น

จากการอบรมครูวิทยากรแกนนำค่าย Green School Camp :ห้องเรียนสีเขียวรักพลังงาน รุ่นที่ 4 วันที่ 7-10 พ.ค. ที่ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฏร์ธานี ซึ่งจัดโดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผศ.ดร.ธนวันต์ สินธุนาวา นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม บรรยายพิเศษเรื่อง “การบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมภายในสถานศึกษาอย่างยั่งยืนและทิศทางการดำเนินงานโครงการห้องเรียนสีเขียว” ว่า ถ้าจะทำให้ประเทศชาติอยู่รอดต่อจากนี้ไป ครูต้องสอนให้เด็กฉลาดกว่าครู ต้องเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ โดยนำกิจกรรมเข้าไปใส่ ซึ่งนโยบายสำคัญของชาติ คือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานอย่างรู้คุณค่า การใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เฉกเช่นในหลายประเทศสร้างความตระหนักในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ประเทศอังกฤษรณรงค์เลิกใช้หลอดกาแฟ ประเทศเคนย่า และบังคลาเทศเลิกใช้ถุงดำ ถุงกอบแกบ เพราะการนำขยะใส่ถุงดำเป็นการอำนวยความสะดวกในการเก็บขนย้ายขยะเท่านั้น แต่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและที่ผิดหนักไปกว่านั้น คือ การนำถุงกอบแกบใส่ขยะแล้วผูกถุงซึ่งไม่มีออกซิเจนเข้าไปทำให้เกิดก๊าซมีเทนที่รุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน หรือ การล้างจานโดยทิ้งเศษอาหารลงท่อระบายน้ำก็ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก


“ถึงเวลาที่ครูต้องเปลี่ยนเป็นครูคนใหม่ เลิกเป็นครูที่สอนจนเหนื่อยหนัก ต่อไปนี้ ต้องทำให้เด็กคิดได้ ครูต้องตอบคำถามเด็กด้วยคำถามเสมอ ลดและเลิกการตอบคำถามเด็กด้วยคำตอบ เพราะวิธีการดังกล่าวที่ทำมาหลายปีบั่นทอนเด็ก ทำให้เด็กเลิกคิด และครูต้องหยุดเป็นตัวสำเร็จให้เด็ก เพราะกระบวนการคิดจะไม่เกิดขึ้น ต้องทำให้เด็กมีวุฒิภาวะเร็วขึ้นกระตุ้นให้เขาเกิดความคิดทุกขั้นตอน ซึ่งเด็กจะเกิดความคิดเมื่อมีการตัดสินใจได้ด้วยตนเอง” ผศ.ดร.ธนวันต์ กล่าวและว่า การจัดกิจกรรมห้องเรียนสีเขียวจากนี้ไป ครูจะรวมศูนย์การจัดการไม่ได้ ต้องกระจายบทบาทให้เด็ก สร้างเด็กให้มีวุฒิภาวะ โดยการสร้างเงื่อนไขให้เด็กตัดสินใจโดยการใช้กิจกรรม เพื่อให้เด็กได้คิด แสดงออกและมีส่วนร่วมให้มากขึ้น เช่น ตั้งโจทย์สัปดาห์พกพาผ้าเช็ดหน้า เพื่อสร้างเสริมนิสัยการใช้ซ้ำ การจัดพิธีไหว้ครูโดยลดการใช้คาร์บอน หรือการจัดกีฬาสีที่ต้องให้ขยะเป็นศูนย์ ลดการแจกแก้วน้ำ หลอดน้ำ ถุงดำ อย่าใช้โรงเรียนเป็นเพียงฐานการเรียนรู้ แล้วใช้โรงเรียนเป็นที่ทิ้งขยะตรงนี้คือโจทย์ที่เป็นวัตถุประสงค์สำคัญที่ครูต้องสร้างเงื่อนไขในการเรียนรู้ให้เด็กคิดเป็น


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม 2561

 

โพสต์เมื่อ 10 พ.ค. 2561 อ่าน 12543 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 2984]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 391]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 971]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 17640]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 859]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)