สพฐ.สร้างระบบข้อมูลกลางลดภาระครู



#showpic

เลขาธิการ กพฐ.เร่งเคลียร์ลดภาระงานครู เตรียมสร้างระบบฐานข้อมูลกลางรวบรวมงานนโยบายและแผนของ สพฐ.ลดความซ้ำซ้อนการบริหารจัดการจากส่วนกลางไปจนถึงโรงเรียน

วันนี้ (20 ส.ค.) นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ มอบนโยบายให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ (สพท.) เกี่ยวกับการลดภาระงานครู โดยต้องการให้สำนักงานภายในของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั้งหมดไม่ให้ขอข้อมูลต่างๆจากโรงเรียนผ่านสำนักงานนโยบายและแผน (สนผ.) สพฐ. เพื่อเป็นการลดความซ้ำซ้อนของการขอข้อมูล และลดภาระให้กับโรงเรียนนั้น ขณะนี้ตนได้สั่งการให้ทุกสำนักงานภายใน สพฐ.รวบรวมข้อมูลรายละเอียดในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามภารกิจ เช่น ข้อมูลจำนวนเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ข้อมูลโรงเรียนในโครงการปลอดขยะ ข้อมูลเด็กพิเศษ เป็นต้น และส่งให้กับ สนผ. เป็นผู้รวมข้อมูล เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ของ สพฐ.อยู่ภายใต้ศูนย์สารสนเทศของ สนผ. อยู่แล้ว เช่น ข้อมูลจำนวนนักเรียน ข้อมูลจำนวนครู เป็นต้น โดยจากนี้ สนผ.จะมีการจัดระบบถังกลางไว้ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละสำนักงานภายใน และแต่ละสำนักงานจะต้องปรับปรุงข้อมูลของสำนักตนเองให้เป็นปัจจุบันด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่โรงเรียนสะท้อนเป็นเสียงเดียวกัน คือ เรื่องการขอข้อมูลซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับโรงเรียน

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในส่วนของเรื่องการแก้ปัญหาธุรการโรงเรียนแบบครบวงจรนั้น ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ตนจะเชิญครูและผู้บริหารสถานศึกษากลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล กลุ่มโรงเรียนขนาดกลาง โรงเรียนมัธยมขยายโอกาส จากทั่วประเทศมาหารือถึงภาระงานที่เป็นอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลมา สพฐ.ก็จะแบ่งเป็นประเภทปัญหาของครูและปัญหาของผู้อำนวยการโรงเรียน โดยงานธุรการในโรงเรียน จะมีเรื่องงานธุรการที่มาจากการเรียนการสอน ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูโดยตรง งานธุรการจากการบริหารของโรงเรียน และงานธุรการจากหน่วยงานอื่นๆ เป็นหน้าที่ของผอ.โรงเรียนต้องเป็นผู้ดำเนินการ และในส่วนของงานธุรการเกี่ยวกับด้านการเงินและพัสดุที่มี 2 ส่วน คือ งบประมาณประจำ เช่น งบอุดหนุนรายหัว งบหนังสือเรียน งบอาหารกลางวัน โรงเรียนยังคงต้องเป็นผู้ดำเนินการอยู่ แต่ สพฐ.จะมีการจัดระบบช่วยโดยการจัดครูอัตราจ้าง ทำงานธุรการแทน แต่สำหรับงบจัดสรร เช่น งบสนับสนุนจัดซื้อโต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น ซึ่งงบประมาณในลักษณะดังกล่าวจะต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการดำเนินการ ดังนั้นจะมอบให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ในกรณีของโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมก็ถือเป็นข้อยกเว้น โดยจะเริ่มต้น 1 ตุลาคมนี้

“ขณะนี้ สพฐ.กำลังพิจารณางบประมาณที่จะให้มีกีจ้างครูอัตราจ้างไปช่วยงานธุรการของโรงเรียน โดยครูไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งหากดำเนินการได้ครบถ้วนทุกโรงเรียนก็จะเป็นการลดภาระของครูและยังไม่เป็นการเพิ่มภาระงานให้ผอ.โรงเรียนมากเกินไปด้วย”เลขาฯ กพฐ.กล่าว

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2561

 

 

โพสต์เมื่อ 20 ส.ค. 2561 อ่าน 9234 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 446]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 297]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 844]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 11986]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 754]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)