นายก ส.บ.ม.ท.วอน กอปศ.ถอยหนึ่งก้าวฟังความคิดเห็นของคุณครูและผู้บริหารโรงเรียน



#showpic

นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ)กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีพิจารณาข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ในประเด็นนิยามคำว่า ครูใหญ่ แทนคำว่า ผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่า การกำหนดนิยามดังกล่าวนั้น เป็นความตั้งใจทำให้ครูดีขึ้น โดยเน้นเรื่องความเป็นครู และให้ผู้บริหารสถานศึกษามีความสำคัญมากยิ่งขึ้นไม่ใช่เป็นเพียงผู้บริหารสถานศึกษาเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้ดูแลในเรื่องวิชาการและเรื่องอื่นๆ ร่วมด้วย เพราะขณะนี้ผู้บริหารสถานศึกษาเหมือนกับผู้บริหารอื่น ๆ ที่เป็นแบบธุรกิจ และไม่ได้ดูรายละเอียดในเรื่องเนื้อหาวิชาการ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ผู้บริหารสถานศึกษาต้องดูแลในเรื่องนี้ เพื่อให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น และที่ รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ กรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) กล่าวว่าร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติไม่ได้กำหนดว่า ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาต้องใช้คำว่า “ครูใหญ่” จึงขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาสบายใจได้ ไม่มีข้อบังคับว่าต้องเปลี่ยนชื่อตำแหน่งมาเป็นครูใหญ่ และ รศ.นพ.จิรุตม์ ฯ ยังกล่าวต่อไปว่าประเด็นเรื่องใบรับรองความเป็นครู ที่อาจจะเข้าใจว่า ออกให้ใครก็ได้ แต่ใบรับรองความเป็นครูยังให้ความสำคัญกับความเป็นครูตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ใช่แค่การประกอบอาชีพหรือวิชาชีพทั่วไป แต่เป็นบุคคลที่ต้องมีคุณลักษณะเฉพาะ เป็นการยกระดับเกียรติและศักดิ์ศรีมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ การจะเรียกชื่อใบรับรองความเป็นครูที่ชัดเจนว่าอย่างไร สุดท้ายจะถูกกำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูโดยเฉพาะ ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา และขอยืนยันว่าใบรับรองความเป็นครูจะไม่ทำให้ความเป็นครูด้อยลง นั้น ส.บ.ม.ท.มีความเห็นดังนี้

1. การที่ น.พ.จรัส สุวรรณเวลา เห็นว่า "ขณะนี้ผู้บริหารสถานศึกษาเหมือนกับผู้บริหารอื่น ๆ ที่เป็นแบบธุรกิจ และไม่ได้ดูรายละเอียดในเรื่องเนื้อหาวิชาการ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ผู้บริหารสถานศึกษาต้องดูแลในเรื่องนี้ เพื่อให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น" นั้น

ส.บ.ม.ท.เห็นว่าการมีความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่มีอคติต่อบรรดาผู้อำนวยการโรงเรียนและเป็นการกล่าวหาผู้อำนวยการโรงเรียนแบบขาดเหตุผลขาดข้อมูลสนับสนุน ส.บ.ม.ท. จึงขอทราบว่า น.พ.จรัสฯเอาข้อมูลมาจากไหนที่กล่าวหาว่าบรรดาผู้อำนวยการโรงเรียนในปัจจุบันเป็นผู้ที่ไม่ได้ดูรายละเอียดในเรื่องเนื้อหาวิชาการ มีกี่รายที่เป็นดังเช่นที่กล่าวหา คิดเป็นกี่เปอร์เซนต์ของจำนวนผู้บริหารโรงเรียนทั้งหมด เคยมีการสำรวจหรือไม่ การตัดสินใจภายใต้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเช่นนี้จะส่งผลเสียต่อการวางแผนจัดการการศึกษาของชาติ ส.บ.ม.ท.ขอเรียนว่าผู้อำนวยการสถานศึกษาทุกรายผ่านการเป็นครูมานานจนมีจิตวิญญาณความเป็นครูสูงมากกว่าที่ น.พ.จรัสฯเข้าใจ รวมทั้งยังได้สะสมประสบการณ์ทั้งทางด้านวิชาการและด้านอื่นๆอีกหลากหลาย ทุกวันนี้ผู้อำนวยการโรงเรียนเกือบทุกโรงเรียนต่างเป็นผู้นำทางวิชาการให้กับคุณครู ความล้มเหลวทางวิชาการที่ผ่านมานั้นล้วนแล้วแต่เกิดจากการกระทำของภาครัฐที่ผิดพลาดมาโดยตลอดนานนับสิบปี หากนายแพทย์จรัสฯต้องการทราบว่าภาครัฐทำผิดพลาดอะไรไว้ก็ขอให้สอบถามมาได้ ส.บ.ม.ท. พร้อมที่จะให้ข้อมูล ดังนั้นหากเหตุผลในการเปลี่ยนจาก ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็น ครูใหญ่ เป็นดังเช่นที่นายแพทย์จรัสฯวางสมมติฐานไว้ ก็ควรจะต้องดำเนินการแก้ไขให้เป็น ตำแหน่ง ผู้อำนวยการ เช่นเดิม เพราะสมมตฐานและแนวคิดผิดพลาด

2. ในอดีตที่ผ่านมา ตำแหน่งครูใหญ่เป็นตำแหน่งชั้นต้นของคนที่มาเป็นผู้บริหารใหม่ รับผิดชอบงานไม่มาก ดูแลโรงเรียนขนาดเล็ก ต่อมาเมื่อมีประสบการณ์และมีผลงานดีขึ้นก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลโรงเรียนขนาดใหญ่ขึ้นและได้รับการเลื่อนให้เป็นอาจารย์ใหญ่และผู้อำนวยการต่อไป แต่จิตวิญญาณก็ยังเป็นครูเช่นเดิม การปรับตำแหน่งผู้อำนวยการมาเป็นครูใหญ่ก็เปรียบเสมือนการเปลี่ยนตำแหน่งทหารยศนายพันหรือนายพลให้มาเป็นจ่าหรือนายร้อย การทำเช่นนี้จึงไม่เป็นที่ยอมรับได้

3. การท่ี รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ แจ้งว่า "ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติไม่ได้กำหนดว่า ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาต้องใช้คำว่า ครูใหญ่ จึงขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาสบายใจได้ ไม่มีข้อบังคับว่าต้องเปลี่ยนชื่อตำแหน่งมาเป็นครูใหญ่"นั้น

ส.บ.ม.ท.พิเคราะห์จากบทบัญญัติในบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 101 วรรคแรกซึ่งบัญญัติว่า "ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษาซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นครูใหญ่และผู้ช่วยครูใหญ่ตามพระราชบัญญัตินี้" และบทบัญญัติในมาตรา 38 วรรคแรก บัญญัติไว้มีสาระสำคัญว่าในสถานศึกษาของรัฐที่จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา 8(2)(3)(4)(5)และ(6) ให้มีครูใหญ่คนหนึ่งรับผิดชอบในการบริหารสถานศึกษาให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายและเป็นผู้บังคับบัญชาของครูและบุคคลากรอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาในสถานศึกษา โดยจะให้มีผู้ช่วยในการบริหารตามความจำเป็นและเหมาะสมด้วยก็ได้...... เห็นได้ว่าบทบัญญัติทั้งสองมาตราของกฎหมายฉบับดังกล่าวหากมีผลบังคับใช้ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าท่ีเป็นผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการจะต้องเปลี่ยนตำแหน่งเป็นครูใหญ่หรือผู้ช่วยครูใหญ่ทันที มิได้เป็นไปตามที่ รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ กล่าวอ้างแต่อย่างใด

4. การที่ รศ.นพ.จิรุตม์ฯ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องใบรับรองความเป็นครูนั้นเป็นการให้ความสำคัญกับความเป็นครูตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ใช่แค่การประกอบอาชีพหรือวิชาชีพทั่วไป นั้น

ส.บ.ม.ท.เชื่อได้ว่าการเปลี่ยนแปลงจาก "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" เป็น"ใบรับรองความเป็นครู " นั้นน่าจะมีเจตนาซ่อนเร้นที่มีผลในการทำให้ครูด้อยสิทธิลงหรือมีภาระเพิ่มขึ้นเกินความจำเป็น เพราะการเปลี่ยนเป็นชื่อใบรับรองความเป็นครูนั้นไม่ได้ทำให้สังคมมีความรู้สึกตามที่รศ.นพ.จิรุตม์ฯกล่าวอ้างแต่อย่างใด และเมื่อชื่อที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ทำให้เกียรติและศักดิ์ศรีของครูสูงขึ้น ก็จึงเชื่อได้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะมีผลทางกฎหมายและกฎระเบียบที่จะมีบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับอื่นๆต่อไปแน่นอน

5. ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 38 วรรคสามบัญญัติว่า "ผู้ช่วยครูใหญ่ซึ่งทำหน้าที่ช่วยงานบริหารหรือธุรการอาจแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมิใช่เป็นครูได้" เห็นได้ว่าสาระของมาตรานี้เปิดช่องให้บุคคลที่ไม่เคยเป็นครูสามารถเป็นผู้ช่วยผู้บริหารโรงเรียนได้ ไม่ว่าจะทำหน้าที่ในฝ่ายใดๆก็ตาม การบัญญัติเช่นนี้ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้เพราะในทางปฏิบัตินั้นผู้ช่วยผู้บริหารโรงเรียนจะต้องทำหน้าท่ีเป็นผู้บังคับบัญชาของคุณครูทันทีเมื่อผู้บริหารโรงเรียนไม่อยู่หรืออยู่แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าท่ีได้ หรือได้รับมอบอำนาจหน้าท่ีจากผู้บริหารให้ปฏิบัติแทน คุณครูทั้งประเทศจะไม่มีวันยอมรับการบริหารสั่งการจากผู้ที่ไม่เคยเป็นครูอย่างเด็ดขาดเพราะเมื่อไม่มีประสบการณ์ทางการสอนแล้วจะนำครูได้อย่างไร

"ในความเห็นส่วนตัวผมเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้มีสิ่งดีดีที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษามากมาย ยกเว้นประเด็นดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นจึงอยากให้ กอปศ ถอยออกมาสักก้าวหนึ่งแล้วฟังความคิดเห็นของคุณครูและผู้บริหารโรงเรียนบ้าง อะไรที่ปรับเปลี่ยนแล้วไม่เกิดประโยชน์ใดๆมีแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง ก็ไม่ควรทำ โดยปกติแล้วครูเป็นผู้ถูกกระทำมาโดยตลอด ไม่มีปากไม่เสียงใดๆ แต่คราวนี้มีการเคลื่อนไหวกันทั้งประเทศ ดังนั้นจึงควรรับฟังและแก้ไขให้เป็นไปตามความถูกต้องและเหมาะสม" นายรัชชัยย์ กล่าว

 

 

โพสต์เมื่อ 13 มี.ค. 2562 อ่าน 8503 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 3163]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 398]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 982]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 17767]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 893]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)