ยันครู 4 ปีราชภัฏมีมาตรฐาน และไม่ขัดกฎหมายสภาครูฯ



#showpic

สภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ จัดเสวนาแนวทางจัดทำและบริหารหลักสูตรครู 4 ปี ขณะที่ประธาน กมว.ย้ำหลักสูตรครู 4ปี มรภ.มีมาตรฐานไม่ขัดกฏหมาย

วันนี้ (24เม.ย.)ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ(สครภ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ สครภ ได้จัดเสวนาหัวข้อ “แนวทางการจัดทำและบริหารหลักสูตรครู 4 ปี ตาม มคอ.1 และเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู” เพื่อชี้แจงกรณีที่มีผู้ยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ อ้างหลักสูตรครู 4 ปี ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)อาจเข้าข่ายขัดต่อ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลาการทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 44(3) ระบุ ”ให้ผู้ขอรับใบประกอบวิชาชีพครูต้องผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด”

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าวต่อไป ในการเสวนาครั้งนี้มีดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธาน รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.)น.ส.นุชนภา รื่นอบเชย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และผศ. ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการร่วม เป็นวิทยากร โดยรศ.ดร.เอกชัย ได้ชี้แจงว่าหลักสูตรครู 4 ปีของมรภ.ที่กำหนดให้นิสิตนักศึกษาออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพและปฏิบัติการสอนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-4 สามารถทำได้ และไม่ขัดกับข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 ในข้อ 4(ข) มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ (1) การฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียน (2) การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาในวิชาเฉพาะ ซึ่งทั้ง(1) และ(2) สามารถนับเวลารวมกันได้ และการฝึกปฏิบัติการทั้ง 2 ส่วนก็ไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกันตลอดทั้งเทอม

 

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนน.ส.นุชนภา แจ้งว่าในมคอ.1 หลักสูตรครู 4 ปี ข้อ 16.5 และ 6)ที่ระบุในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู สถาบันอุดมศึกษาควรให้นิสิต/นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกประสบการณ์เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ระยะแรกที่เข้ามาศึกษาเพื่อให้รู้จักวิชาชีพและสร้างทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพครู และเพิ่มความเข้มข้นของวิชาชีพให้มากขึ้นตามลำดับจนถึงปีสุดท้าย ซึ่งการที่หลักสูตรมรภ.ให้นักศึกษาออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพตั้งแต่ปีที่ 1-4 ถือว่าสอดคล้องกับแนวทางในมคอ.1 และในมคอ.1 ใช้คำว่า “ควร” จึงไม่ได้บังคับว่าทุกสถาบันที่ผลิตครูต้องทำตามแนวทางนี้ ขณะที่ผศ.ดร.วีรสิทธิ์ เสนอแนะให้สครภ สรุปผลการเสวนา เพื่อเผยแพร่ให้สถาบันผลิตครูได้นำไปเป็นแนวปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป

“ขณะนี้หลักสูตรการผลิตครู 4 ปีในส่วนของมรภ.ได้ผ่านการอนุมัติจากสภาสถาบันเกือบครบแล้ว ส่วนสครภ กำลังเร่งดำเนินการอบรมอาจารย์ผู้สอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในวิชาสะเต็มศึกษา และวิทยาการคำนวณ ตามที่ได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และการอบรมอาจารย์ด้านความรู้เกี่ยวกับสมองเพื่อการบริหารจัดการชีวิต(Excecutive Function : EF) ซึ่งได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)คาดการอบรมอาจารย์ดังกล่าวจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2562 “ ผศ.ดร.รัฐกร กล่าว.


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 24 เมษายน 2562

 

โพสต์เมื่อ 25 เม.ย. 2562 อ่าน 5405 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 3158]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 398]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 982]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 17766]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 893]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)