ส.บ.ม.ท.ยืนยัน ออกโรงเพื่อปกป้องสิทธิของ ขรก.ครูฯ โดยแท้จริง



#showpic

นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่าตามที่สื่อมติชนออนไลน์ฉบับวันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2562 พาดหัวข่าวว่า ""ซัดไอ้โม่งบิดเบือนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปล่อยข่าวตัดเงินวิทยะฐานะ กพฐ โต้ สิทธิครูอยู่ครบ" นั้น เห็นว่าการพาดหัวข่าวในลักษณะดังกล่าวไม่เป็นความจริงเพราะผู้ที่ออกมาให้ข่าวในเชิงวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ นั้นได้เปิดเผยชื่อและมีตัวตนอยู่จริงไม่ได้เป็นไอ้โม่งและการให้ข่าวนั้นก็เป็นไปตามมติและการวิเคราะห์ร่วมกันของบรรดาผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาและสมาชิก ส.บ.ม.ท.ที่ไปประชุมร่วมกันในคราวประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ.2562 เมื่อวันท่ี 8 พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับกรณีที่ รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ออกมาเปิดเผยว่า "...ประเด็นการเปลี่ยนชื่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมาเป็นใบรับรองความเป็นครู มีการบิดเบือนข้อมูลว่าหากเปลี่ยนชื่อแล้วจะถูกตัดเงินวิทยะฐานะ ซึ่งไม่เป็นความจริง...." นั้น เห็นว่าสิ่งที่ รศ.เอกชัยฯให้สัมภาษณ์สื่อนั้นเป็นเพียงคำพูดมิได้เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ โดยเทียบเคียงได้จากการท่ีรอง ผบ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยศพลตำรวจเอก ท่านหนึ่งที่เป็นกรรมการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์สื่อว่าการเปลี่ยนตำแหน่งพนักงานสอบสวนนั้นไม่มีผลกระทบใดๆต่อสิทธิประโยชน์ที่พนักงานสอบสวนเคยได้รับ แต่ในที่สุดก็มีการตัดเงินค่าตอบแทนของพนักงานสอบสวนจนหมดสิ้น จึงเห็นว่าบางครั้งคำพูดและคำยืนยันนั้นก็มิได้หมายความว่าจะเชื่อถือได้ทุกเรื่อง และการที่บรรดาข้าราชการครูมีความกังวลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ก็เพราะพฤติกรรมของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ) ที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องการร่างกฎหมายการศึกษาและการปฏิรูปการศึกษาในหลายเวทีแต่กลับไม่มีการหยิบยกเรื่องการยกเลิก "ใบประกอบวิชาชีพครู" แล้วเปลี่ยนเป็น "ใบรับรองความเป็นครู" เป็นประเด็นหรือหัวข้อในการรับฟังความคิดเห็น ถือว่ามีเจตนาซ่อนเร้นความสำคัญบางเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของข้าราชการครู

แม้ว่าจะมีการระบุในมาตรา 37 แห่งร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติดังกล่าว ไว้ว่า"ให้ครูใหญ่ ผู้ช่วยครูใหญ่ และครู ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนอื่นตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น" ก็ตาม แต่กฎหมายว่าด้วยเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทน ตามที่มีการระบุไว้นั้น ก็ไม่มีกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ในขณะนี้ และหากมีขึ้นต่อไปในอนาคตก็ไม่รู้ว่าจะมีการตัดสิทธิประโยชน์ที่ครูพึงได้อย่างไรบ้าง จะเป็นเหมือนที่พนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดนไปแล้วหรือไม่ก็ไม่อาจคาดเดาได้

อีกประเด็นหนึ่งคือตามท่ี รศ.เอกชัยฯให้สัมภาษณ์ว่าตนกังวลว่าหากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)จะมีการปรับแก้จนกฎหมายบิดเบี้ยวไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิม นั้น เห็นว่ากฎหมายใดๆที่มีผลบังคับใช้กับประชาชนทั่วไปแต่จัดทำโดยบุคคลเพียงกลุ่มเล็กๆกลุ่มเดียวที่ไม่มีความเป็นตัวแทนของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียถือได้ว่ามีความเป็นเผด็จการสูงมากและไม่ควรมีลักษณะเช่นนี้ในด้านการศึกษาของชาติบ้านเมือง กฎหมายทุกฉบับควรผ่านการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ

"ผมเห็นว่าหากกฎหมายที่ กอปศ ร่างไว้ จะบิดเบี้ยวไปจากเดิม ก็ยอมรับความบิดเบี้ยวได้หากไม่ทำให้ขวัญและกำลังใจของครูเสียไป และที่กล่าวว่าจะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิม นั้น เห็นว่าหากไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิม ก็ยอมรับได้ถ้าหากวัตถุประสงค์เดิมของผู้ร่างนั้นคือการตัดสิทธิประโยชน์ที่พึงได้บางประการของครูทิ้งไป" นายรัชชัยย์ ฯกล่าวในที่สุด

 

โพสต์เมื่อ 15 พ.ค. 2562 อ่าน 13604 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 5458]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 447]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1186]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 18793]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 993]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)