เตือน "ศูนย์เด็กเล็ก-ร.ร.อนุบาล" คัดกรองเข้ม "มือ เท้า ปาก"



#showpic

กรมอนามัย เตือนศูนย์เด็กเล็ก - ร.ร.อนุบาล คุมเข้มตรวจคัดกรองเด็กทุกวัน สกัดโรคมือ เท้า ปาก พร้อมให้ผู้ปกครองสังเกตอาการใกล้ชิด หากพบเด็กมีไข้หรือมีอาการสงสัยเป็นโรคมือ เท้า ปากให้หยุดเรียนและพาเด็กไปพบแพทย์ทันที

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน นับเป็นจุดเสี่ยงของการเกิดโรคมือ เท้า ปาก โดยในช่วงเปิดเทอมเด็กต้องอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน จึงควรมีการตรวจคัดกรองเด็กทุกวัน หากพบเด็กมีไข้หรือมีอาการสงสัยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้หยุดเรียน หากไม่มีการเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ พ่อแม่ ครู ควรดูแลเด็ก พร้อมเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ด้วยหลัก 4 ร. คือ 1) ร.รักษาความสะอาดสถานที่ บ้าน โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก เน้นล้างทำความสะอาดสถานที่ ห้องน้ำ ห้องส้วม ของใช้ ของเล่น ภาชนะที่เด็กใช้ร่วมกัน โดยใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอรีนหรือน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ตามบ้านเรือนและหากเป็นสิ่งของเครื่องใช้ของเด็กที่มีการนำเข้าปากให้ล้างด้วยน้ำและสบู่ ล้างออกด้วยน้ำสะอาดและนำไปตากแดดหรือเช็ดให้แห้ง หากมีเด็กป่วยเพิ่มขึ้นให้ปิดห้องเรียนหรือโรงเรียนและจัดการทำความสะอาด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

2) ร.รักษาสุขอนามัย หมั่นล้างมือก่อนและหลังกินอาหาร และหลังขับถ่าย ด้วยน้ำและสบู่ รวมทั้งควรจัดเตรียมเครื่องใช้ของเด็กแยกเป็นรายบุคคลไม่ให้ใช้ร่วมกัน นอกจากนี้ ผู้ดูแลเด็กต้องทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กกิน และอาหารต้องไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำต้องสะอาด ผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระต้องรีบซักให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ 3) ร. รู้ทันสังเกต มีไข้ มีจุด หรือผื่นแดงบริเวณมือ เท้า ปาก อาจมีอาการเจ็บปากน้ำลายไหล ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสบริเวณรอบๆ อักเสบแดงและแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน และ 4) ร.ระวัง ไข้สูง หอบเหนื่อย ซึม กล้ามเนื้ออ่อนแรง หากพบเด็กมีอาการดังกล่าว ให้รีบพาพบแพทย์ทันที

“จากข้อมูลเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 13 พฤษภาคม 2562 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 10,775 ราย มากที่สุดในกลุ่มอายุ 1 ปี ร้อยละ 30.33 รองลงมา 2 ปี ร้อยละ 21.15 และ 3 ปี ร้อยละ 15.21 ทั้งนี้ โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้ หรือ เอนเทอโรไวรัสหลายชนิด โดยเชื้อจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง แผล และอุจจาระของผู้ป่วย หรือเกิดจากการไอ จามรดกัน ทุกฝ่ายจึงต้องสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 16 พ.ค. 2562

 

โพสต์เมื่อ 18 พ.ค. 2562 อ่าน 5796 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 5855]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 452]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1213]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 19003]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 1010]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)