“บุญรักษ์” ชูโมเดลครูอาชีวะสู่ห้องเรียนสพฐ.



#showpic

“บุญรักษ์”ย้ำผอ.สอศ.ผลิตแรงงานฝีมือ แนะ สอศ.กับ สพฐ.เชื่อมโยงเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพ ชูโมเดลครูอาชีวศึกษาช่วยครูการศึกษาพื้นฐานจัดทำหลักสูตรในแต่ละสาขาวิชาชีพ

วันนี้ (4 มิ.ย.) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ในการอบรมโครงการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 80 คน เมื่อเร็วๆนี้ ตนขอให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยดำเนินการในประเด็นที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ ได้ให้แง่คิดเรื่องการจัดการอาชีวศึกษา ที่ประเทศต้องการแรงงานมากถึง 4แสนคน แต่ ดร.สมคิด กังวลว่าในอนาคตเราจะผลิตแรงงานฝีมือได้ทันหรือไม่ รวมถึงฝากประเด็นที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) ในด้านอาชีวศึกษาที่จะต้องเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพ สร้างเด็กเก่ง มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ และสร้างให้เด็กเป็นผู้ประกอบการเองได้ ซึ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้บริหารสถานศึกษา จะต้องนำไปสู่การปฎิบัติให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมให้ได้

เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แม้จะมีการจัดทำหลักสูตรวิชาชีพพื้นฐานระยะสั้นในโรงเรียนของ สพฐ.แต่เชื่อว่าเด็กอาจยังมีความรู้พื้นฐานไม่แน่นพอ และยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เด็กยังไม่รู้ว่าตัวเองจะมีความถนัดแล้วชอบด้านสายอาชีพด้านใด ดังนั้น ตนจึงมอบเป็นนโยบายร่วมระหว่าง สอศ.กับ สพฐ.ในการเชื่อมโยงเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพด้วยวิธีการให้ครูอาชีวศึกษามาช่วยครูการศึกษาพื้นฐานจัดทำหลักสูตรในแต่ละสาขาวิชาชีพ หรือ นำครูอาชีวศึกษามาช่วยสอนในโรงเรียน สพฐ. พร้อมกับทำบันทึกคลิปการสอนของครูช่างและเปิดให้เด็กมัธยมศึกษาดู ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดเจตนคติที่ดีในการเรียนสายอาชีพไปเอง เพราะเหมือนได้เรียนกับหลักสูตรวิชาชีพของจริงและจากครูช่างฝีมือ เด็กก็จะเกิดความสนใจและอยากไปเรียนตามครูผู้สอน

“ผมมีตัวอย่างและอยากชูให้เป็นโมเดลในการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพที่ประสบความสำเร็จ คือ วิทยาลัยเทคนิคสองแคว จังหวัดพิษณุโลก ที่มีการบริหารจัดการการเพิ่มผู้เรียนสายชีพด้วยการนำครูออกไปสอนวิชาชีพในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในพื้นที่ ทำให้จากเดิมที่วิทยาลัยมีผู้เรียนเพียง 200 คน เพิ่มผู้เรียนเป็น 600 คน ซึ่งไม่เพียงเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพอย่างเดียว แต่ยังช่วยเด็กพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้วย ดังนั้น ผมจึงอยากให้วิทยาลัยสังกัด สอศ.ในพื้นที่ต่างๆได้มีการบริหารจัดการแบบนี้บ้าง โดย ในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ จะมีการประชุมผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ผมก็จะเน้นย้ำโครงการครูอาชีวะ สู่ห้องเรียนสพฐ.ด้วย” ดร.บุญรักษ์ กล่าว.


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ อังคารที่ 4 มิถุนายน 2562

 

โพสต์เมื่อ 5 มิ.ย. 2562 อ่าน 5352 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 5442]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 447]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1185]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 18781]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 993]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)