ความเห็นนายกฯ ส.บ.ม.ท.ประเด็นการแก้ไขข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ



#showpic

นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ( ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่าตามที่ รมว.ศธ แจ้งว่า คณะกรรมการคุรุสภาได้ประชุมเมื่อเร็วๆนี้แล้วมีมติเห็นชอบในหลักการร่างข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (ฉบับที่....) พ.ศ..... ซึ่งเป็นการแก้ไขข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2559 โดยประเด็นที่แก้ไข ได้แก่

1. ตามข้อบังคับเดิม กำหนดให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทุก 5 ปี หากไม่ต่อภายใน 5 ปี หลังจากวันหมดอายุ จะไม่สามารถต่ออายุได้ ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถประกอบวิชาชีพได้ปรับ ให้เป็นเลขาธิการคุรุสภาเสนอคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ(กมว.)พิจารณาอนุมัติกรณีดังกล่าวได้ ,

2. ค่าปรับการต่อใบอนุญาตฯล่าช้า จากเดิมเดือนละ 200 บาทเป็นเดือนละ 200 บาทแต่เพดานสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท

3. ให้ยกเลิกการกำหนดใบอนุญาตฯตลอดชีพ จากที่เคยมีผู้เสนอว่า หากต่อใบอนุญาตฯครบ 3 รอบ หรือ 15 ปีติดต่อกัน ให้ได้รับใบอนุญาตฯตลอดชีพ เพราะเห็นว่าครูจะต้องมีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง และเป็นหลักประกันการประกอบวิชาชีพอย่างมีคุณภาพ รวมถึงเป็นไปตามหลักการของวิชาชีพควบคุม

4. กำหนดให้มีการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้สอดคล้องและทันการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามประกาศคุรุสภาเรื่อง การรับรองปริญญาและประกาศคุรุสภาเรื่องการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาเพื่อการประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2557 ที่จะเริ่มใช้กับผู้ที่เข้าเรียนหลักสูตรครูตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 ทั้งนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)เป็นผู้ดำเนินการจัดการทดสอบ นั้น

นายรัชชัยย์ ฯเห็นว่าการแก้ไขข้อบังคับในประเด็นเรื่องที่ให้อำนาจคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว) พิจารณาอนุมัติกรณีตามข้อบังคับเดิม กำหนดให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทุก 5 ปี หากไม่ต่อภายใน 5 ปี หลังจากวันหมดอายุ จะไม่สามารถต่ออายุได้ ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถประกอบวิชาชีพได้ ปรับให้เป็นเลขาธิการคุรุสภาเสนอคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ(กมว.)พิจารณาอนุมัติกรณีดังกล่าวได้และ กรณีค่าปรับการต่อใบอนุญาตฯล่าช้า จากเดิมเดือนละ 200 บาทเป็นเดือนละ 200 บาทแต่เพดานสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท นั้น เห็นด้วยอย่างยิ่งเพราะคุณครูหลายท่านที่ไม่ได้ต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมิได้หมายความว่าจงใจจะไม่ต่อใบอนุญาตแต่ภาระงานครูมีมากมายไม่เหมือนวิชาชีพอื่นๆ เพราะมิได้รับภาระงานสอนอย่างเดียวแต่ยังต้องรับภาระของนักเรียนทุกๆเรื่องเพื่อให้เป็นคนเก่ง ดี และมีความสุข และยังต้องติดตามส่งเสริมนักเรียนต่อไปจนกว่าจะประสบความสำเร็จ การให้โอกาสเช่นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดียิ่ง

สำหรับประเด็นเรื่องการยกเลิกการกำหนดใบอนุญาตตลอดชีพกรณีที่คุณครูต่อใบอนุญาตครบ 3 รอบ หรือ 15 ปี เพราะเห็นว่าครูจะต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและเป็นหลักประกันการประกอบวิชาชีพอย่างมีคุณภาพนั้น นายรัชชัยย์ฯ เปิดเผยว่าตนไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตลอดชีพดังกล่าวเพราะคุณครูที่ได้ต่อใบอนุญาตครบ 3 รอบ แล้ว ควรให้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตลอดชีพและกรณีการให้โอกาสครูได้รับใบอนุญาตตลอดชีพนั้น ก็เพิ่งมีบัญญัติไว้ใน ข้อ 17 วรรค สอง ของ ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ 2559 ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพให้ต่ออายุใบอนุญาตต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด และไม่มีกรณีถูกวินิจฉัยว่าประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพหรือถูกลงโทษทางวินัย ให้ถือเป็นใบอนุญาตตลอดชีพ” โดยได้มีการประกาศในราชกิจจนุเบกษาเมื่อวันท่ี 9 ธันวาคม 2559 ลงนามข้อบังคับโดยพลเอกดาวน์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศธ ในขณะนั้น ซึ่งเห็นได้ว่าข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพิ่งมีผลใช้บังคับได้ไม่ถึง 3 ปี และไม่มีข้อมูลหรือผลการทำประชาพิจารณ์หรืองานวิจัยใดบ่งชี้ว่าผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตลอดชีพ เป็นคนไม่ดี ไม่ยอมพัฒนาตนเอง สร้างความเสียหายให้กับวิชาชีพครูและยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับความเห็นของคณะกรรมการคุรุสภาคณะที่มีพลเอกดาวน์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นประธาน ทั้งๆที่ไม่มีข้อบ่งชี้เชิงข้อเท็จจริงว่าการให้ใบอนุญาตตลอดชีพสร้างความเสียหายให้กับวิชาชีพครูแต่อย่างใด

คุณครูที่ประกอบวิชาชีพครูมานานถึง 15 ปี นั้นย่อมมีความรู้ มีประสบการณ์สูงและเป็นผู้ยอมรับการพัฒนาตนเองมาตลอดเวลาอยู่แล้ว ซึ่งหากจะว่าไปแล้วคุณครูที่มีประสบการณ์ในการสอนมานานถึง 15 ปี น่าจะมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการเป็นครูมากกว่าบรรดาคณะกรรมการคุรุสภาที่ทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ เสียอีก ทั้งนี้หาก ศธ ต้องการให้กลุ่มครูเหล่านั้นพัฒนาตนเองก็สามารถทำได้ในช่องทางอื่นเช่นกำหนดให้เป็นเงื่อนไขให้เป็นส่วนหนึ่งในการเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือเลื่อนวิทยะฐานะ เป็นต้น ที่สำคัญคือในเดือนธันวาคม 2562 นี้จะมีคุณครูที่จะได้รับสิทธิในการได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตลอดชีพตามกฎหมายจำนวน ร่วมสามแสนคน การคิดที่จะแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวโดยการตัดสิทธิพึงมีพึงได้ของคุณครูร่วมสามแสนคนนั้นเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อบุคคลเป็นวงกว้างจึงควรยกเลิกมติดังกล่าว ที่สำคัญคือการออกหลักเกณฑ์เช่นนี้หากมีผลย้อนหลังในทางไม่เป็นคุณ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องให้เพิกถอนและหากผู้ใดรู้สึกว่าตนเองได้รับความเสียหายก็อาจใช้สิทธิในการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาและจะนำไปสู่ความวุ่นวายไม่รู้จบ

นายรัชชัยย์ฯยังเปิดเผยอีกว่ากรณีที่คณะกรรมการคุรุสภายังมีมติให้มีการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้สอดคล้องและทันการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามประกาศคุรุสภาเรื่อง การรับรองปริญญาและประกาศคุรุสภาเรื่องการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาเพื่อการประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2557 ที่จะเริ่มใช้กับผู้ที่เข้าเรียนหลักสูตรครูตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 ทั้งนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)เป็นผู้ดำเนินการจัดการทดสอบ นั้น ตนเห็นว่าแนวคิดเช่นนี้เป็นแนวคิดที่ไม่สามารถยอมรับได้เพราะผู้ที่เรียนวิชาชีพครูและสำเร็จการศึกษามาแล้วนั้นย่อมได้รับการเพาะบ่มมาจากสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างเต็มตามหลักสูตรการผลิตครู การที่ต้องมาสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอีกนั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการคุรุสภาคณะนี้ไม่ยอมรับในมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนและการฝึกประสบการณ์ของสถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ผลิตครู ทั้งๆที่ไม่มีข้อมูลใดยืนยันว่าสถาบันอุดมศึกษาประสบความล้มเหลวในการผลิตบุคคลเพื่อประกอบวิชาชีพครู ที่สำคัญคือมีหลักประกันอะไรว่าข้อสอบของ สทศ. มีความมาตรฐานและสามารถวัดความรู้ความสามารถบุคคลว่าเหมาะสมที่จะเป็นครู และหากผู้ที่เรียนจบมาทางวิชาชีพครูพลาดในการสอบซึ่งอาจเกิดจากความไม่มีมาตรฐานของข้อสอบ บุคคลเหล่านี้จะไปประกอบอาชีพอะไรได้อีกเพราะตนเองไปศึกษาร่ำเรียนมาเพื่อที่จะเป็นครูเท่านั้น

การออกหลักเกณฑ์เช่นนี้เป็นการสกัดกั้นมิให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีจิตวิญญาณอยากเป็นครู ต่างพากันถอดใจหนีไปเรียนวิชาชีพอื่นกันหมดเพราะเมื่อเรียนจบมาแล้วนอกจากจะต้องสอบแข่งขันกันเพื่อที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูแล้วก็ยังต้องมาเสี่ยงอีกว่าจะสอบผ่านเพื่อได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหรือไม่ ถ้าสอบไม่ผ่านก็ไม่สามารถประกอบวิชาชีพอื่นได้อีก

"การที่คณะกรรมการคุรุสภาจะใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้กับผู้ที่เข้าเรียนหลักสูตรครูปีการศึกษา 2562 นั้นก็คงต้องดูว่ามีผู้เข้าเรียนไปก่อนหลักเกณฑ์นี้มีผลบังคับใช้แล้วหรือยังหากมีผู้เข้าเรียนไปก่อนแล้ว หลักเกณฑ์นี้ก็ไม่สามารถมีผลบังคับใช้ย้อนหลังได้เพราะเป็นหลักเกณฑ์ที่มีผลย้อนหลังในทางที่ไม่เป็นคุณ ผมขอเรียกร้องให้ทบทวนและยกเลิกมติดังกล่าวเพราะมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการคัดเลือกคนเก่งและคนดีให้มาเป็นครู และหากยังยืนยันที่จะให้มีหลักเกณฑ์เช่นนี้ก็ขอให้คณะกรรมการคุรุสภาลองทำข้อทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูก่อนที่จะไปทดสอบผู้อื่น หากทำข้อสอบไม่ผ่านก็ควรรับผิดชอบด้วยการลาออกจากการเป็นคณะกรรมการคุรุสภา เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี ต่อไป" นายรัชชัยย์ กล่าวในที่สุด

 

ข้อมูลข่าวจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ( ส.บ.ม.ท.)

 

โพสต์เมื่อ 5 ก.ย. 2562 อ่าน 10714 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 2886]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 385]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 964]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 17555]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 852]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)