ส.บ.ม.ท.เชื่อ ศธ.ยุคนี้เป็นยุค “ฟ้าเปิดทางการศึกษา”



#showpic

นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.)เปิดเผยว่าเมื่อวันท่ี 7 กันยายน 2562 นายรัชชัยย์ ฯ นายก ส.บ.ม.ท พร้อมทั้งกรรมการบริหารสมาคมฯ และ นายจำนงค์ ประสานวงศ์ นายกสมาคมรองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษา และกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้ไปรับฟังนโยบายด้านการศึกษาของ รมว.ศธ. ที่มหาวิทยาลัยนครพนม จังหวัดนครพนมและได้ยื่นหนังสือต่อ รมว.ศธ. เพื่อขอให้ รมว.ศธ. ดำเนินการให้มีการสอบบรรจุบุคคลเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาในจังหวัดที่มีตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนที่คาดว่าจะว่างเนื่องจากการเกษียณอายุราชการหรือดำเนินการให้จังหวัดที่มีตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาว่างเนื่องจากการเกษียณอายุราชการขอใช้บัญชีจากจังหวัดใกล้เคียงเรียกบรรจุผู้สอบขึ้นบัญชี เพื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนต่อไป ทั้งนี้เพราะบรรดารองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาต่างก็มีความรู้ความเข้าใจและมีประสบการณ์ในการบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษามาแล้วอันจะเกิดผลดีต่อการมัธยมศึกษาไทย

นายรัชชัยย์ฯ ยังได้เปิดเผยต่อไปอีกว่า ได้รับฟังนโยบายของ รมว.ศธ. แล้วสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้

1. ในเรื่องการจัดการศึกษานั้น รมว.ศธ ให้ความสำคัญกับครูมากที่สุดเพราะครูคือบุคคลสำคัญที่จะสร้างให้นักเรียนเป็นคนเก่ง ดี มีความสุข

2. ปัญหาสำคัญข้อหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนคือครูยังขาดสื่อเทคโนโลยีที่จะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าท่ีของ ศธ ที่จะต้องสนับสนุนในเรื่องนี้

3. ครูต้องปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

4. มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้เงินเดือนและค่าตอบแทนของครูมีมูลค่าสูงติดอันดับ Top 5 ของประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลาและครูก็ต้องปฏิบัติให้สมเหตุสมผลกับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนเก่งและคนดีมาประกอบวิชาชีพครู

5. ในเร็วๆนี้จะมีการสื่อสารสองทางระหว่าง รมว.ศธ กับครูและผู้มีส่วนได้เสียทางการศึกษา ทางสื่อโซเชี่ยล โดยจะมี software ที่สามารถแยกและจัดกลุ่มประเด็นของปัญหาเพื่อที่ รมว ศธ สะดวกในการรับรู้ข้อเสนอแนะทางการศึกษา ข้อเสนอจะถึง รมว.ศธ ทุกประเด็น

6. เรื่องงบประมาณอาหารกลางวันของนักเรียนที่ได้รับรายละ 20 บาท นั้น ศธ จะต้องคิดและวางแผนใหม่เพื่อประโยชน์ของนักเรียนมากที่สุดโดยอาจเพิ่มงบประมาณเช่นอาจจ้างแม่ครัวประจำโรงเรียน เพื่อให้ครูได้ทำหน้าท่ีสอนได้อย่างเต็มที่ เป็นต้นและเนื่องจากงบประมาณอาหารกลางวันรายหัวนักเรียนรายละ 20 บาท นั้น ใช้มานานแล้ว ค่าครองชีพอาจสูงขึ้นจนทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการในงบประมาณเท่าเดิมอย่างมีคุณภาพได้ ดังนั้นจึงจะต้องมีการสำรวจให้ได้ข้อเท็จจริงให้ได้ว่าในต้องใช้เงินเท่าไรกันแน่

7. การประเมินเพื่อเลื่อนวิทยะฐานะแบบเดิมที่เน้นประเมินเอกสารนั้นจะต้องปรับเปลี่ยนให้ง่ายขึ้น ใช้เอกสารให้น้อยลง แต่สามารถบ่งบอกถึงคุณค่าและความสามารถของครูได้ ที่ผ่านมาคุณครูต้องแบ่งเวลาที่ควรจะอยู่กับนักเรียนไปจัดทำเอกสาร

8. ครูธุรการและนักการภารโรงนั้นจะต้องได้รับเงินเดือนตรงเวลาที่พึงต้องได้และจะต้องดำเนินการให้มีครูธุรการและนักการภารโรงให้ครบทุกโรงเรียนเพื่อจะได้ให้ครูทำหน้าท่ีสอนได้เต็มที่

9. เรื่องที่บรรดาองค์กรครูกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้อำนวยการเป็นครูใหญ่ นั้น ต้องตอบโจทก์ให้ได้ว่าเปลี่ยนแล้วจะทำให้การศึกษาดีขึ้นหรือไม่อย่างไร

10. เรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้น รมว.ศธ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเกียรติและศักดิ์ศรีของครูที่เป็นวิชาชีพชั้นสูงที่จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพ แต่จะต้องมีกระบวนการและขั้นตอนในการได้มาซึ่งใบประกอบวิชาชีพดังกล่าว

11. ประเด็นเรื่องโครงการต่างๆที่มีมากมายหลายโครงการในโรงเรียนเช่นโครงการโรงเรียนสีขาว โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ ฯลฯ นั้น รมว.ศธ เห็นว่าโรงเรียนที่มีคุณภาพ นั้นต่างก็ทำโครการเหล่านี้อยู่ก่อนตามบทบาทและจิตวิญญาณของความเป็นครูอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องแยกเป็นโครงการต่างๆแล้วแยกประเมินเป็นโครงการ เพราะจะทำให้ครูเสียเวลาที่จะต้องรับการประเมิน ดังนั้นจะต้องมีการดูแลแก้ไขปัญหานี้

12. ศธ จะต้องเร่งผลิตบุคคลให้เพียงพอและมีความรู้ความสามารถให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและแนวทางการพัฒนาประเทศ

13. โรงเรียนต้องหาแนวทางในการส่งนักเรียนไปฝึกประสบการณ์กับสถานประกอบการต่างๆที่มีความพร้อมที่จะรับนักเรียนฝึกประสบการณ์ ตัวอย่างเช่นโรงเรียนที่อยู่ย่านดอนเมืองอาจส่งนักเรียนไปฝึกประสบการณ์กับบริษัทการบินไทยซึ่งพร้อมให้บริการ

14. เรื่องการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กโดยวิธีการควบรวมนั้น รมว.ศธ เห็นว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะต้องทำเช่นนั้นทุกโรงเรียน เพราะเรื่องของการศึกษานั้นไม่ใช่เรื่องที่จะต้องคิดในประเด็นกำไรขาดทุน แต่ต้องคิดในเรื่องของคุณภาพเป็นตัวตั้ง หลายโรงเรียนนอกจากจะไม่ยุบหรือควบรวมแล้วยังจะต้องไปเติมเต็มเพื่อให้เด็กๆได้รับการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

15. การที่มีการบริหารจัดการด้านการศึกษาในแต่ละจังหวัดที่มีความซ้ำซ้อนกันระหว่างศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด กับ ผอ.สำนักงานเขตพื้นท่ีการศึกษา นั้นจะต้องมีการรีบแก้ไขโดยเร็วแต่จะไม่ทำให้ใครเดือดร้อนเสียหาย

นายรัชชัยย์ ฯยังได้กล่าวอีกว่า จากแนวคิดของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. คนปัจจุบันเห็นได้ว่าเป็นนักบริหารที่มีวิสัยทัศน์ มีประสบการณ์ มองเห็นภาพปัญหา มีแนวทางการแก้ปัญหาและมีแนวทางพัฒนาด้านการศึกษาอย่างเห็นได้ชัด เป็นนักบริหารที่ยึดหลักการมีส่วนร่วม เชื่อได้ว่าการศึกษาในยุคที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็น รมว.ศธ. นี้ น่าจะได้ชื่อว่าเป็นยุค “ฟ้าเปิดทางการศึกษา” หลังจากมืดครึ้มมาหลายปี


ขอบคุณข่าวจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.)

 

โพสต์เมื่อ 9 ก.ย. 2562 อ่าน 9139 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


อำนาจในการอนุมัติจ่ายเงินเพื่อประโยชน์การศึกษา [อ่าน 111]
สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 6160]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 469]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1239]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 19214]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)