ก.ค.ศ. เร่งคลอดหลักเกณฑ์วิทยฐานะ คาดเสร็จก่อนเปิดเทอม



ก.ค.ศ. เร่ง คลอด หลักเกณฑ์วิทยฐานะ คาดเสร็จก่อนเปิดเทอม เผยวัดจากตัวเด็กก่อนไล่เลียงไปถึงครู

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาฯ ก.ค.ศ.) กล่าวว่า ตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มีนโยบายเรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ เนื่องจากต้องการให้ข้าราชการครูมีสวัสดิการ และความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งการประเมินจะต้องสอดคล้องกับตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ ไม่เน้นเรื่องการทำเอกสารนั้น ขณะนี้ ก.ค.ศ.ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว จำนวน 2 ชุด โดยคณะกรรมการชุดที่ 1 จะดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยรูปแบบและวิธีการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะที่ผ่านมา เป็นมาอย่างไร และศึกษาแนววิธีการดำเนินการในต่างประเทศ เพื่อหาข้อดีและข้อเสีย นำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ และจะมีการวิจัยติดตามผลการใช้หลักเกณฑ์ใหม่ด้วย และคณะกรรมการชุดที่ 2 จะดำเนินการยกร่างหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะใหม่คู่ขนานกันไป โดยยึดหลักการเรื่องการลดการทำเอกสาร ให้ครูได้อยู่กับเด็ก เน้นผลสัมฤทธิ์จากผู้เรียนเป็นแนวทางในการยกร่าง

“ก.ค.ศ.พยายามที่จะปรับให้การประเมินทุกอย่างให้มีการเชื่อมโยงกัน เพราะเราไม่ต้องการให้เกิดภาระในการเตรียมการแก่ครู เช่น ประเมินเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนก็เตรียมข้อมูลอย่างหนึ่ง ประเมินวิทยฐานะก็เตรียมข้อมูลอย่างหนึ่ง เป็นต้น เราจะออกแบบการประเมินให้สามารถนำไปใช้กับการประเมินต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย โดยจะประเมินจากหน้าที่และความรับผิดชอบของครูที่ส่งผลต่อเด็กโดยตรง เริ่มตั้งแต่กระบวนการใช้หลักสูตรในการจัดการเรียนการสอน ผลการจัดการเรียนการสอน พฤติกรรมผู้เรียนที่เกิด และอื่นๆ ซึ่งในอนาคต ก.ค.ศ.เห็นว่าครูควรที่จะนำผลประเมินตรงนี้ใช้ในการประเมินเรื่องต่างๆ ได้” เลขาฯ ก.ค.ศ.กล่าว

นายอัมพร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตนได้กำหนดกรอบให้คณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 และตนมองว่าหากเราสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้สำเร็จ การทำงานของครูและการประเมินจะเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้ครูมุ่งมั่นในเรื่องการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมพัฒนาผู้เรียนเป็นหลัก รวมถึงยังแก้ปัญหาครูทิ้งห้องเรียนเพื่อทำเอกสาร การจ้างทำผลงาน เพราะผลที่ทุกอย่างจะปรากฎอยู่ที่ตัวผู้เรียน ดังนั้นการประเมินเราจะดูที่ผู้เรียนก่อนว่ามีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างไร จึงจะไปดูกระบวนการจัดการเรียนการสอนของครู ซึ่งตนเชื่อว่าการประเมินในลักษณะนี้จะสามารถตัดปัญหาเรื่องการจ้างทำผลงานได้อย่างแน่นอน

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 30 มกราคม 2563 

โพสต์เมื่อ 30 ม.ค. 2563 อ่าน 9173 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


อำนาจในการอนุมัติจ่ายเงินเพื่อประโยชน์การศึกษา [อ่าน 104]
สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 6151]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 469]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1238]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 19198]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)