ศธ.มอบสถาบันการเงินวางแนวแก้หนี้ครู



โยนเขตพื้นที่ฯสำรวจข้อมูลแหล่งเงินกู้ จวกใช้ ช.พ.ค.-ช.พ.ส.ค้ำประกัน

นายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้ครู เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ว่าตนได้ประชุมร่วมกับผู้แทนจากธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแห่งประเทศไทย เพื่อหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู

ซึ่งที่ประชุมได้มีข้อสรุปร่วมกันว่าให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งไปจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เช่น จะสามารถลดการผ่อนชำระหนี้ของครูกันได้อย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้มาตรการที่จะช่วยเหลือออกไปคนละทิศละทาง เป็นต้น จากนั้นในวันที่ 17 ก.พ.จะนำข้อมูลจากสถาบันการเงินแต่ละแห่งมาวิเคราะห์ร่วมกันอีกครั้งว่าจะมีมาตรการใดบ้างที่จะสามารถกำหนดใช้ในการแก้ปัญหาหนี้สินครูต่อไป ส่วนประเด็นคำสั่งศาลปกครองกลางพิพากษาเรื่องการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการครู เพื่อชำระหนี้ว่า เงินเดือนสุทธิหลังจากการหักชำระหนี้แล้วต้องเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 นั้น แต่ละธนาคารต่างยืนยัน ว่าไม่รู้ว่าครูแต่ละคนมีหนี้อยู่ที่ไหนบ้าง จึงส่งผลให้ การจะหักเงินให้อยู่ในกรอบไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือนไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นตนจึงได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นผู้ไปรวบรวมข้อมูลแหล่งเงินกู้ของครูทั้งหมดว่ามีที่ใดบ้าง เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือต่อไป

เลขานุการ รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ตนยังขอให้นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหนังสือไปถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องการหักเงินเดือนร้อยละ 70 ของเงินเดือนครู เนื่องจากมีสถาบันการเงินหลายแห่งทำหนังสือให้ผู้กู้ยินยอมให้มีการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ได้เกินร้อยละ 70 ซึ่งในกรณีเช่นนี้เราต้องการความชัดเจนว่าสามารถทำได้หรือไม่ และควรมีแนวทางปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวอย่างไร คาดว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาคงให้ความเห็นกลับมาได้ในเร็วๆนี้ เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้ครูนัดหน้าวันที่ 17 ก.พ.นี้

“สำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าวจะมีการจัดลำดับความสำคัญ โดยจะเลือกแก้ปัญหาให้กับกลุ่มครูที่เป็นหนี้วิกฤติในระยะแรกก่อน ส่วนระยะที่สองจะมีการวางแนวทางแก้ปัญหาหนี้ให้กับครูทั่วไป ขณะเดียวกัน ผมยังมองถึงการวางมาตรการป้องกันการก่อหนี้ในอนาคต เช่น การนำเงินโครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และโครงการสวัสดิการกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) มาใช้ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งถือว่าผิดวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการ ดังนั้นผมว่าอาจจะต้องมีการทบทวนโครงการนี้ใหม่ด้วยเช่นกัน” นายอนุชากล่าว.

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563

 

โพสต์เมื่อ 5 ก.พ. 2563 อ่าน 5836 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 3198]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 398]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 985]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 17792]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 896]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)