ส.ค.ศ.ท.จี้คุรุสภา ออกหลักเกณฑ์รับรองหลักสูตรครู 4 ปี



“รัฐกรณ์” เผยมติส.ค.ศ.ท.จี้คุรุสภาออกหลักเกณฑ์รับรองหลักสูตรครู 4 ปี ก่อนสอบตั๋วครู หวั่นสอบ 5 วิชาเพิ่มภาระผู้เรียน -ธุรกิจการติว

เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ(สครภ) เปิดเผยว่า ในการประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย(ส.ค.ศ.ท.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้หารือเกี่ยวกับการรับรองหลักสูตรผลิตครู 4 ปี และการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งหลักสูตรครู 4 ปี รับนักศึกษารุ่นแรกตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 ที่ผ่านมา แต่ยังมีหลายสถาบันที่หลักสูตรยังไม่ผ่านการรับทราบ จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สปอว.) และบางสถาบัน สปอว.ได้ส่งกลับให้สถาบันแก้ไขใน 2 ประเด็นหลักคือ ประเด็นการกำหนดเกณฑ์การสอบผ่านภาษาอังกฤษ โดยให้สถาบันต้องกำหนดเกณฑ์ภาษาอังกฤษไว้ในทุกหลักสูตร และประเด็นปัญหาการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูหรือการฝึกสอนโดยมีบางสถาบันกำหนดให้มีการแบ่งการฝึกปฏิบัติการตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-3 ปีละประมาณ 1 เดือน รวม 4 เดือน และชั้นปีที่ 4 อีก 1 เทอมตามมคอ.1 ขณะที่บางสถาบันให้ฝึกปฏิบัติการในชั้นปีที่ 4 ทั้ง 2 เทอม

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้สปอว.มีการรับทราบ 2 กรณีต่างกัน บางสถาบันรับทราบ บางสถาบันให้กลับไปแก้ไข โดยอ้างว่าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การรับรองปริญญา ตามหลักสูตร 5 ปีเหมือนเดิมของคุรุสภา ทั้งนี้หากสปอว.ไม่รับทราบหลักสูตร จะส่งผลให้นักศึกษาไม่สามารถกู้ยืมเงินเรียนจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)ได้ และบัณฑิตที่จบจากหลักสูตรดังกล่าวไม่สามารถใช้คุณวุฒิได้ รวมทั้งไม่สามารถสมัครสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ด้วย ดังนั้น ส.ค.ศ.ท.จึงเรียกร้องให้คุรุสภาเร่งออกหลักเกณฑ์การรับรองปริญญาโดยเร็ว

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับเรื่องการสอบขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้น ตามข้อบังคับของคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 กำหนดให้ผู้ที่จะขอใบอนุญาตฯ ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีที่คุรุสภารับรอง ไม่มีลักษณะต้องห้าม ผ่านการรับรองประสบการณ์วิชาชีพครู และผ่านการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คุรุสภากำหนด ซึ่งการทดสอบสมรรถนะด้านความรู้นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง ผังการสร้างข้อสอบ(Test Blueprint) โดยกำหนดให้มีการทดสอบ 5 วิชา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ การใช้ดิจิทัลเพื่อการศึกษา วิชาชีพครู และวิชาเอก วิชาละ 100 คะแนน โดยทั้ง 5 วิชาผู้ขอรับใบอนุญาตต้องสอบผ่านไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าการสอบทั้ง 5 วิชาเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้เรียนในการเตรียมตัวสอบและทำให้เกิดจธุรกิจการติวสอบขึ้น

“ขณะนี้หลายสถาบันกังวลคือการทดสอบภาษาอังกฤษ คุรุสภาควรเน้นเฉพาะการสอบวิชาชีพครู โดยบูรณาการเนื้อหาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และการใช้ดิจิทัลเพื่อการศึกษา รวมอยู่ในวิชาชีพครู สำหรับวิชาเอกควรให้เป็นความรับผิดชอบของสถาบันฝ่ายผลิต และสิ่งที่คุรุสภาควรรีบดำเนินการในขณะนี้การออกหลักเกณฑ์การรับรองปริญญาหลักสูตร 4 ปี เพราะหลักเกณฑ์นี้จะมีเรื่องการปฏิบัติการสอน คุณสมบัติ และการประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ของผู้ที่ใช้ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูด้วย”ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าว

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563

โพสต์เมื่อ 22 ก.พ. 2563 อ่าน 6447 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 3992]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 407]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1034]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 18129]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 919]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)