รมว.ศึกษาฯ ยืนยัน “เด็กไทย” เรียนหนังสือในโรงเรียนเป็นหลัก พร้อมแจงดราม่าเรียนออนไลน์



รมว.ศึกษาธิการ ยืนยันนโยบายเด็กไทยเรียนในโรงเรียนเป็นหลัก เผย “เรียนทางไกลผ่าน 17 ช่องทีวี” และ “เรียนออนไลน์” เป็นเพียงส่วนเสริม กรณีสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เลวร้าย แต่ ณ วันนี้ประเมินแล้ว 1 ก.ค. สามารถเปิดเรียนได้ตามกำหนด

 วันที่ 17 พฤษภาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับทีมข่าว กรณีปรากฏภาพยายพาหลานไปหาซื้อโทรศัพท์มือถือราคาไม่เกิน 2,000 บาท เพื่อเตรียมไว้เรียนออนไลน์ จนทำให้เกิดแฮชแท็ก #เรียนออนไลน์ และวิพากษ์วิจารณ์การให้เรียนทางไกลของกระทรวงศึกษาธิการ ในช่วงที่เลื่อนเปิดเทอมเป็นวันที่ 1 กรกฏาคม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า

“ผมก็พูดชัดเจนแล้วว่าในขั้นตอนแรก คือเรียนที่โรงเรียนเป็นอันดับแรก โดยต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัยของสาธารณสุข ซึ่งถ้าวันนี้เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม ร้อยละ 80 ของโรงเรียนทั่วประเทศก็ต้องเรียนที่โรงเรียน เรียนออนไลน์อาจจะแค่เรียนแค่ในกรุงเทพฯเท่านั้นเอง เพราะว่าสถานการณ์ยังไม่ดีพอ แต่อีก 45 วันจากนี้ต้องติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่าจะเป็นอย่างไร ต้องเข้าใจในบริบทว่าการเรียนออนไลน์ที่ผมพูดมาตลอดเวลา Onsite (ออนไซต์), Onair (ออนแอร์) และ Online (ออนไลน์) ซึ่งออนไซต์มาก่อน ก็คือเรียนที่โรงเรียนก่อนอันดับแรก และโรงเรียนทั่วประเทศส่วนใหญ่อยู่ใน 50 จังหวัดที่อยู่ในโซนที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเลยในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ดังนั้นเรียนที่โรงเรียนได้ ถ้าไม่ได้ก็เป็นออนแอร์ คือดูโทรทัศน์ เด็กจนถึง ม.3 ดูโทรทัศน์อยู่แล้ว ที่มีออนไลน์ คือเสริม ในชั้น ม.4 ม.5 และม.6” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

นายณัฏฐพล ย้ำว่า สำหรับการเปิดทดสอบสัญญาณเรียนทางไกลผ่านทีวี 17 ช่องตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. เป็นการทดสอบสัญญาณโทรทัศน์แต่ละบ้าน ซึ่งถ้าเผื่อบ้านไหนไม่มีโทรศัพท์ เราไม่ได้บอกให้ไปให้ซื้อโทรศัพท์

“อาจจะเป็นคุณยายเคสเดียวที่อยากจะไปซื้อหลาน ผมก็ไม่รู้ว่าเหตุผลคืออะไร แต่ในกระบวนการทั้งหมด ถ้าในพื้นที่เรียนไม่มีโทรศัพท์เลย ไม่มีโทรทัศน์เลย ก็ต้องไปเรียนที่โรงเรียน”

“ที่เราพูดถึงออนแอร์ หรือออนไลน์ นั่นคือสถานการณ์เลยร้ายที่สุด เผื่อไว้ เรียนที่โรงเรียน แล้วถึงเวลาสถานการณ์ไม่ดี มีคนติดเชื้อคนหนึ่งในหมู่บ้าน ก็ต้องมาใช้ออนแอร์อยู่ดี แล้วถึงตอนนั้นจะมาทำกันก็ไม่ทันแล้ว ฉะนั้นจึงต้องเตรียมตรงนี้ไว้ก่อน”

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวฝากถึงหลายฝ่ายที่มีข้อกังวลใจเรื่องเรียนออนไลน์ว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่คนคิด การเรียนออนไลน์ เราคาดว่าเด็ก ม.4 ม.5 ม.6 คงต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเราก็สำรวจอยู่ ส่วนโรงเรียนอื่นๆ ถ้าโรงเรียนไหนมีความสามารถที่จะสอนออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องเรียนทางโทรทัศน์ ตนก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งเด็กคนที่เป็นข่าวอาจจะเป็นหนึ่งในเด็กที่อยู่ในโรงเรียนที่อยากจะสอนออนไลน์ก็ได้ ตนก็ไม่ทราบ แต่ตนให้อิสระกับผู้อำนวยการแต่ละโรงเรียนตัดสินใจแนวทางในการสอน โดยกระทรวงศึกษาธิการเพียงแต่เตรียมเป็นพื้นฐานไว้

ผู้สื่อข่าวถามถึงอุปกรณ์สำหรับเรียนออนไลน์ เช่น แท็บเล็ต จะมีการแจกหรือไม่ นายณัฏฐพล ตอบว่า “ไม่มีครับ เพราะหลังจากที่ดูในส่วนของงบประมาณแล้ว และดูสถานการณ์แล้วเราสามารถเรียนได้ที่โรงเรียน เพราะฉะนั้นแจกอะไรก็จะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ต้องใช้ แล้วถ้าเผื่อแจกแล้วจะกลายเป็นการแจกไปทุกๆ ปี ถ้าปีนี้แจก ปีหน้าก็จะถามว่าทำไมไม่แจก จะเป็นปัญหาผูกพันงบประมาณ ซึ่ง ณ วันนี้ ประมวลดูแล้วยังไม่คุ้มค่า เพราะว่าในระบบทั้งหมดของเรายังไม่พร้อมออนไลน์เลย ถ้าเผื่อมีอุปกรณ์ มีแท็บเล็ตต้องพร้อมออนไลน์ นี่ขนาดแค่โทรศัพท์อันเดียวสมาร์ทโฟนเท่านั้นเองว่าเราไม่พร้อมจะไปแจกเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วครับ”

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก Workpoint News วันที่ 17 พฤษภาคม 2563

 

โพสต์เมื่อ 18 พ.ค. 2563 อ่าน 15139 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 241]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 763]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 6443]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 686]
ว 11/2567 หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2599]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)