จุฬาฯ-สพฐ.พลิกโฉมการศึกษาไทยเน้น Active Learning ภายใน 2 ปีให้ครอบคลุมทั่วประเทศ



เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)เรื่อง”พลิกโฉมคุณภาพการศึกษา ผู้เรียนทุกคนต้องเข้าถึงนวัตกรรมภายใน 2 ปี" โดย ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศหลายด้าน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือการปฏิรูปการศึกษา อย่างไรก็ตามการปฏิรูปในประเทศไทยได้เรียกร้องกันมาต่อเนื่องหลายปี โดยเฉพาะข้อเรียกร้องจากประชาชนมาทุกสมัยอันดับแรกคือการปฏิรูปการศึกษา อันดับสองก็คือปฏิรูปตำรวจ ซึ่งในส่วนของการปฏิรูปการศึกษารัฐธรรมนูญให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จนรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาขึ้นมา และอยู่ในขั้นตอนของกฏหมายตามลำดับ

ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวต่อไปว่า สิ่งหนึ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา ได้ชี้เป้าไว้คือการปฏิรูปการเรียนการสอนและประกาศใช้บังคับไปแล้วในเวลานี้ คือพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยเรื่องนี้สพฐ.เป็นผู้รับผิดชอบ

“วันนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำความตกลงร่วมมือกันกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาไทย ผู้เรียนทุกคนต้องเข้าถึงนวัตกรรมภายใน 2 ปี โดยมีเป้าหมาย คือ การเริ่มปักหมุดโรงเรียนต้นแบบการพัฒนาผู้เรียนให้เข้าถึงนวัตกรรมได้ทุกคนในทุกจังหวัด ในระยะแรกจังหวัดละไม่เกิน 200 คน จำนวนโรงเรียนไม่น้อยกว่า 3 โรง ก่อนขยายผลให้ครอบคลุมทุกโรงเรียน ทุกขนาดทั่วประเทศ ซึ่งจะยกระดับศักยภาพผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น และประเทศได้”

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยการปรับวิธีสอนจาก Passive Learning ที่เน้นการป้อนข้อมูล โดยการท่องจำเนื้อหามาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้ผู้เรียนสร้างความรู้ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ หรือ GPAS 5 Steps ด้วยการให้ผู้เรียนรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกแบบตัดสินใจ บนพื้นฐานคุณธรรมและค่านิยม เพื่อสังคมประเทศชาติ และนำความรู้ไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างมีแบบแผน

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปฏิรูปการศึกษาต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการสร้างคน ผลิตคน ที่มีคุณภาพออกรับใช้สังคมไทยและสังคมโลก ในการปฏิรูปการศึกษากระบวนการเรียนรู้กระบวนการสอนก็เป็นปัจจัยที่จะช่วยสร้างผลตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ และทุกวันนี้ นักเรียน นักศึกษา สามารถหาความรู้ผ่านอินเตอร์เน็ต YouTube ระบบออนไลน์ที่มีมากมาย แต่สิ่งสำคัญวันนี้ คือ ไม่ได้เน้นการสอนแบบ Passive Learning แต่เราจะเปลี่ยนมาเป็น Active Learning ทำอย่างไรให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง เรียนรู้ผ่านระบบข้อมูลข่าวสารที่มีความพร้อม เรียนรู้ด้วยตัวเองตลอดชีวิต เพราะการเรียนรู้ด้วยตัวเองตัวนั้นจะเป็นตัวพื้นฐานที่สำคัญ

ด้าน ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า เป็นที่ทราบดีว่าวันนี้เราจะต้องปรับกระบวนการเรียนการสอน กระบวนการการเรียนรู้ รวมถึงตัวเด็ก ซึ่งแต่ละเรื่องจะต้องเริ่มต้นที่ตัวเด็ก สอนให้เด็กได้กระบวนการ ที่เรียกว่า Active Learning ซึ่งการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อต่อยอดการร่วมกันขับเคลื่อนงานการทำงานครั้งนี้ สพฐ.จะได้นำไปขยายผลให้ครอบคลุมทั้งประเทศต่อไป 

 

ขอบคุณข่าวจาก FOCUSNEWS

โพสต์เมื่อ 11 ส.ค. 2563 อ่าน 8172 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 5465]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 447]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 1187]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 18799]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 993]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)