เลขาธิการ กพฐ. ถก ผอ.สพท.ทั่วประเทศ วางแผนการเรียนช่วงโควิด



"อัมพร"ถกเขตพื้นที่วางแผนการเรียนช่วงโควิด
เลขาธิการ กพฐ. ถก ผอ.สพท.ทั่วประเทศ ย้ำครู-นักเรียนดูแลตัวเองห้ามติดโควิด พร้อมวางแผนบริหารการเรียนช่วงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ แจกถุงยังชีพการศึกษาให้เด็กไม่มีสื่อออนไลน์

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้สื่อสารและทำความเข้าใจให้เขตพื้นที่รับทราบถึงการดำเนินการเรื่องการจัดการเรียนการสอนท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งขอให้โรงเรียนทุกแห่งจะสร้างมาตรการการป้องกันตัวเพื่อไม่ให้ติดเชื้อโควิด รวมถึงจะต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และประกาศมาตรการของจังหวัดอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้โรงเรียนจะต้องตรวจติดตาม และประเมินตรวจสอบรายงานผลทุกวัน ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของเด็กเป็นสำคัญ ส่วนโรงเรียนที่อยู่ในจังหวัดพื้นที่สีแดงจะต้องปิดเรียนทั้งหมด ส่วนจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมตามโซนสีส้ม สีเหลือง และสีเขียว ให้พิจารณาตามประกาศของจังหวัดและหากภาพรวมมีความเรียบร้อยให้จัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์เราไม่กังวล โดยขอให้โรงเรียนที่ปิดเรียนได้ถอดบทเรียนจากการปิดสถานศึกษารอบที่มีการระบาดของโควิดรอบแรกมาบริหารจัดการได้ ส่วนโรงเรียนในพื้นที่ใดที่บ้านเด็กไม่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีครูผู้สอนสามารถจัดถุงยังชีพการศึกษาที่ประกอบไปด้วยใบงาน แบบฝึกหัด และแบบเรียน ดังนั้น แม้จะมีการปิดเรียนเกิดขึ้นเราจะไม่ให้เกิดผลกระทบกับเด็กในเรื่องการเรียนรู้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. ได้ย้ำให้จัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่มีการเลื่อนปิดภาคเรียนหรือเลื่อนการสอบต่าง ๆ เพราะจะกระทบกับการนับชั่วโมงเรียนและส่งผลไปถึงนักเรียนชั้น ม.6 ที่มีผลต่อการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้วย ดังนั้น หากสถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลาย สพฐ.จะจัดหารูปแบบการจัดสอบใหม่เอง

“เรื่องโครงการอาหารกลางวันได้หากโรงเรียนที่มีการปิดเรียนให้จัดส่งอาหารกลางวันที่บ้านนักเรียน หรือปรุงอาหารไว้ที่โรงเรียนและผู้ปกครองมารับ ซึ่งหากผู้ปกครองหรือโรงเรียนไม่สะดวกให้โรงเรียนโอนเงินเข้าบัญชีผู้ปกครองแทน ขณะที่อาหารเสริม นมโรงเรียน ให้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แจกจ่ายให้ผู้ปกครองที่บ้านแทนตามความเหมาะสม” นายอัมพร กล่าว


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 6 มกราคม 2564 

โพสต์เมื่อ 6 ม.ค. 2564 อ่าน 5273 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 2912]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 389]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 966]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 17585]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 857]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)