บอร์ดกพฐ.ถก มาตรการรับมือเปิดภาคเรียน



กพฐ.ถกมาตรการรับเปิดเทอมใหม่
บอร์ดกพฐ.ถก มาตรการรับมือเปิดภาคเรียน และสอบเข้าม.1 และม.4 กำหนดห้องสอบไม่เกิน 20 คนต่อห้อง เว้นระยะห่างทางสังคม "เอกชัย" เผย พิษโควิดกระทบผู้ปกครอง หนุนให้เด็กที่เรียนรร.เอกชนย้ายมาเรียนรร.รัฐระหว่างชั้นเรียนได้

เมื่อวันที่ 14 พ.ค.รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงข้อสั่งการและความห่วงใยของน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ในประเด็นการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 รวมถึงการสอบเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และม.4  ที่จะต้องจัดห้องสอบให้ผู้เข้าสอบจำนวนห้องละไม่เกิน 20 คน เว้นระยะห่าง 2 เมตร พร้อมจัดห้องสอบพิเศษแยกเฉพาะสำหรับนักเรียนผู้เข้าสอบที่มีไข้สูง รวมถึงจัดที่พักคอยให้แก่ผู้ปกครองโดยเฉพาะโรงเรียนอัตราที่มีการแข่งขันสูงจะต้องยึดมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด
           
ประธานกพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อกังวลของผู้ปกครองที่เกิดความกังวลหากเด็กยังไม่สามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้ แต่ผู้ปกครองไม่มีเวลาว่างที่จะดูแลบุตรหลานของตัวเองนั้น ที่ประชุมกพฐ.ไม่อยากให้กังวล เพราะขณะนี้เราได้วางแนวทางที่ดีสุดด้านการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ เพราะขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ประกาศเปิดภาคเรียนที่ 1 ในวันที่ 1 มิ.ย.แล้ว ซึ่งหากพื้นที่ไหนไม่มีการระบาดที่รุนแรงก็ให้เปิดเรียนตามปกติ หรือสลับวันมาเรียนได้ แต่พื้นที่ไหนยังไม่สามารถคุมสถานการณ์โควิดได้ เช่น พื้นที่กรุงเทพมหานคร โรงเรียนคงไม่สามารถเปิดเรียนได้แน่นอนอยู่แล้ว อาจพิจารณาเปิดเรียนหลังวันที่ 1 มิ.ย.ได้ เป็นต้น ซึ่งส่วนตัวมองว่าการเปิดเรียนอยากให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.) จังหวัดเป็นผู้พิจารณา ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องยึดความปลอดภัยด้านสุขภาพของนักเรียนเป็นสำคัญ 

“ที่ประชุมยังได้หารือถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากพบว่าผู้ปกครองหลายคนที่มีบุตรหลานเรียนอยู่โรงเรียนเอกชน และต้องการย้ายออกจากโรงเรียนเดิมกลางคันระหว่างชั้นปีมาเรียนที่โรงเรียนรัฐ ซึ่งที่ประชุมมีข้อสรุปให้นักเรียนที่เรียนอยู่โรงเรียนสามารถนำโปรแกรมการเรียนมาเทียบเคียงย้ายมาเรียนในโรงเรียนของรัฐได้ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระของผู้ปกครองที่ไม่สามารถแบกค่าใช้จ่ายในการเรียนโรงเรียนเอกชน” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม 2564 

โพสต์เมื่อ 14 พ.ค. 2564 อ่าน 5996 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


ว 11/2567 หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 170]
แนวทางการแต่งกายชุดเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 9220]
"ธนุ" เผย 16พ.ค.นี้ให้เปิดเรียนแบบมีเงื่อนไข พื้นที่ไหนร้อนจัดและมีการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19ให้หยุดเรียนได้และให้จัดการเรียนในรูปแบบอื่นแทน [อ่าน 1013]
"เสมา1" เล็งปรับระบบจ้างพิมพ์หนังสือองค์การค้าฯใหม่ ดูตั้งแต่ขั้นตอนแรกถ้าไม่พร้อมพิมพ์ ให้ยกเลิกสัญญา [อ่าน 263]
รับสมัครโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ รุ่นที่ 15 [อ่าน 961]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)