สพฐ. เตรียมความพร้อมเปิดเทอมใหม่ รร. ต้องประเมินตัวเองให้คกก.ควบคุมโรคจังหวัดพิจารณา



สพฐ. เตรียมความพร้อมเปิดเทอมใหม่ 'อัมพร' เผย รร. ต้องประเมินตัวเองให้คกก.ควบคุมโรคจังหวัดพิจารณา

26 เม.ย.65-นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ว่า วันเปิดภาคเรียนใหม่ในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ จะไม่มีการเลื่อนเปิดภาคเรียนอีกต่อไปแล้ว ซึ่งภายใต้การเปิดภาคเรียนใหม่นั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำชับไปสถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งให้เตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้เรียนในทุกมิติ เช่น การตรวจสอบความเรียบร้อยของสภาพอาคารเรียน การเดินทาง การทำความสะอาดห้องเรียน เพื่อป้องกันเชื้อโรค เป็นต้น รวมถึงร่วมมือกับผู้ปกครองในการวางแผนการเปิดภาคเรียน นอกจากนี้จะต้องประสานกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เร่งประชาสัมพันธ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้แก่นักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 5-11 ปี และเป็นกลุ่มเด็กเล็กยังได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนที่น้อยมาก ดังนั้นการเร่งรณรงค์การฉีดวัคซีนของนักเรียนจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญของการเปิดภาคเรียนใหม่ แต่ทั้งนี้หากเด็กคนใดยังไม่อยากฉีดวัคซีนและกังวลว่าจะไม่ได้มาโรงเรียนนั้น เรื่องนี้เรากำชับไปยังสถานศึกษาทุกแห่งแล้วว่าจะไม่นำมากำหนดเป็นเงื่อนไขอย่างเด็ดขาด ไม่มีการบังคับ เพราะต้องการเปิดโอกาสการเรียนให้แก่เด็กทุกคน

นายอัมพร กล่าวต่อว่า ส่วนในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้จะมีโรงเรียนเปิดเรียนในรูปแบบ On site ได้กี่แห่งนั้น โรงเรียนจะต้องประเมินความพร้อมตัวเองและแจ้งให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้พิจารณา แต่ในประเด็นนนี้ตนคาดว่ารัฐบาลจะประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งเชื่อว่าโอกาสเปิดภาคเรียนในรูปแบบปกติมีความเป็นไปได้สูง ทั้งนี้เมื่อมีการเปิดภาคเรียนใหม่แล้วสพฐ.จะเน้นการเรียนสอนเสริมด้วยการเติมเต็มทักษะให้แก่เด็กหลังจากที่เราต้องเผชิญกับภาวะถอดถอยจากการการเรียนรู้ผ่านการเรียนในรูปแบบออนไลน์มาเกือบ 2 ปี โดยภาคเรียนใหม่ปีการศึกษา 2565 นี้จะเป็นปีแห่งการซ่อมสร้างกระบวนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งสพฐ.จะมีเครื่องมือวัดศักยภาพการเรียนของผู้เรียนแต่ละคน ซึ่งไม่ใช่เป็นการวัดว่าเด็กคนไหนเก่งหรือไม่เก่ง แต่เป็นการวัดเพื่อประเมินพื้นฐานว่า 2 ปีจากการเรียนออนไลน์นั้นนักเรียนขาดทักษะด้านไหน เพื่อเติมเต็มคุณภาพเหล่านั้นที่ขาด

“ผมได้เน้นย้ำถึงมาตรการความปลอดภัยเพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานศึกษา ตามมาตรการ 6-6-7 กล่าวคือ 6 มาตรการหลัก ได้แก่ การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ คัดกรองวัดไข้ ลดการแออัด ทำความสะอาด, 6 มาตรการเสริม ได้แก่ การดูแลตนเอง ใช้ช้อนกลางส่วนตัว กินอาหารปรุงสุกใหม่ ลงทะเบียนไทยชนะ สำรวจตรวจสอบนักเรียนกลุ่มเสี่ยง กักกันตัวเองเมื่ออยู่ในกลุ่มเสี่ยง และ 7 มาตรการเข้มงวด ได้แก่ สถานศึกษาประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน TSC+ ทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble จัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหาร จัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม จัดให้มี School Isolation และแผนเผชิญเหตุ มีการควบคุมดูแลการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน และจัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา รวมถึงรณรงค์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับนักเรียน โดยจะเร่งประชาสัมพันธ์ไปยังสถานศึกษา”เลขาฯ กพฐ. กล่าว

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 26 เมษายน 2565 

โพสต์เมื่อ 26 เม.ย. 2565 อ่าน 2195 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 3155]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 396]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 980]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 17764]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 893]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)