คำเรียกชื่อฤดูต่าง ๆ



คำเรียกชื่อฤดูต่าง ๆ

ราชบัณฑิตยสถานมักจะได้รับคำถามเกี่ยวกับการนำคำเรียกชื่อฤดูต่าง ๆ ในภาษาบาลีสันสกฤตมาเทียบใช้แทนคำเรียกชื่อฤดูต่าง ๆ ในประเทศไทยอยู่เสมอ โดยเฉพาะ ฤดูวสันต์ ว่า คือ ฤดูฝน ใช่หรือไม่

แท้จริงแล้ว ฤดูวสันต์ ไม่ใช่ ฤดูฝน หากแต่เป็น ฤดูใบไม้ผลิ คำ “วสันต์” มาจากภาษาบาลีสันสกฤตว่า “วสนฺต” หมายถึง ฤดูใบไม้ผลิ
การแบ่งฤดูกาลในประเทศอินเดียมีความแตกต่างจากการแบ่งฤดูกาลในประเทศไทย เนื่องจากลักษณะภูมิอากาศไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ ในประเทศอินเดียเองยังมีการแบ่งฤดูที่แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่และลักษณะภูมิอากาศอีกด้วย

คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา (บาลี) กล่าวถึงฤดูในประเทศอินเดียว่า มีการแบ่ง ๒ แบบ

แบบแรกเป็นการแบ่งฤดูตามลักษณะภูมิอากาศของประเทศอินเดียทางภาคตะวันออกและภาคใต้ คือ แบ่งออกเป็น ๓ ฤดู ฤดูละ ๔ เดือน ได้แก่ ๑. เหมนฺต (เหมันต์) = ฤดูหนาว ๒. คิมฺหาน (คิมหันต์) = ฤดูร้อน ๓. วสฺสาน (วัสสานะ) = ฤดูฝน

ส่วนแบบที่ ๒ เป็นการแบ่งฤดูตามลักษณะภูมิอากาศของประเทศอินเดียทางภาคเหนือ คือ แบ่งออกเป็น ๖ ฤดู ฤดูละ ๒ เดือน ได้แก่ ๑. เหมนฺต (เหมันต์) = ฤดูหนาว ๒. สิสิร (สิสิระ) = ฤดูหมอกหรือน้ำค้าง ๓. วสนฺต (วสันต์) = ฤดูใบไม้ผลิ ๔. คิมฺหาน (คิมหันต์) = ฤดูร้อน ๕. วสฺสาน (วัสสานะ) = ฤดูฝน ๖. สรท (สารท) = ฤดูใบไม้ร่วง

สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนนั้น พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้อธิบายการแบ่งฤดูกาลในประเทศไทยไว้ว่า แบ่งตามลักษณะภูมิอากาศออกได้เป็น ๓ ฤดู ฤดูละประมาณ ๔ เดือน ได้แก่ ๑. ฤดูหนาว (กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน) ๒. ฤดูร้อน (กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม) ๓. ฤดูฝน (กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม)

จะเห็นได้ว่าการแบ่งฤดูกาลในประเทศไทยนั้นคล้ายคลึงกับการแบ่งฤดูกาลในประเทศอินเดียภาคตะวันออกและภาคใต้ซึ่งอยู่ในเขตมรสุม คือ มี ๓ ฤดู ดังนั้น หากจะนำคำเรียกชื่อฤดูในภาษาบาลีสันสกฤตมาเทียบใช้แทนคำเรียกชื่อฤดูในภาษาไทย ก็สามารถเทียบใช้ได้ดังนี้

เหมันต์ = ฤดูหนาว
คิมหันต์ = ฤดูร้อน
วัสสานะ = ฤดูฝน

ผู้เขียน : นางสาวชลธิชา สุดมุข
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๕๖ มกราคม ๒๕๓๙

โพสต์เมื่อ 9 ส.ค. 2565 อ่าน 10196 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


เครื่องหมาย ฯลฯ (ไปยาลใหญ่ หรือ เปยยาลใหญ่) [อ่าน 1076]
เครื่องหมาย ฯ (ไปยาลน้อย หรือ เปยยาลน้อย) [อ่าน 866]
ประโยคเพื่อการสื่อสาร [อ่าน 4458]
เอเปก หรือ เอเปค [อ่าน 3940]
แนวทางการแก้ปัญหาผลกระทบภาวะถดถอยทางการเรียน ด้านการอ่านการเขียนภาษาไทย [อ่าน 7224]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)