"ตรีนุช" สั่ง สพฐ.-ก.ค.ศ.-สป.ศธ. ปรับงาน รองรับ พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งคสช.บริหารงานบุคคลไม่สะดุด



“ตรีนุช” สั่ง สพฐ.-ก.ค.ศ.-สป.ศธ. ปรับงาน รองรับ พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งคสช.บริหารงานบุคคลไม่สะดุด

17 ก.ย. 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 พ.ศ. ...ไปแล้วนั้น ขั้นตอนต่อไปรัฐสภาจะส่งให้นายกรัฐมนตรี นําขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมาย โดยระหว่างนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเตรียมความพร้อมรองรับการประกาศใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นการโอนภารกิจด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ไปให้ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา) และ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา) โดยจะดำเนินการใน 3 ส่วน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นไม่สะดุด

รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า การเตรียมการรองรับฯ

ส่วนที่ 1.สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.)ซึ่งดูแลศึกษาธิการจังหวัด เตรียมการถ่ายโอนภารกิจด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จาก กศจ.ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา รวม 245 เขตพื้นที่ฯ สำหรับงานเกี่ยวกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ การส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา ตลอดจนการให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดยังอยู่ที่ กศจ.

ส่วนที่ 2. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)จะได้รับภารกิจเรื่องการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จาก กศจ.ก็ต้องเตรียมคน และเตรียมระบบสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ และบุคลากรให้มีความพร้อม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาล พร้อมทั้งให้ สพฐ.เตรียมงบประมาณรองรับภารกิจใหม่ด้วย และ

ส่วนที่ 3. คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะต้องกำหนดองค์ประกอบ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และ การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการดำเนินงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จะเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดไว้ด้วยว่า องค์ประกอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาต้องมีผู้แทน กศจ.อย่างน้อย 1 คน และนายอำเภอหรือผู้แทนอย่างน้อย 1 คน สำหรับกรุงเทพมหานคร ให้มีผู้อำนวยการเขต หรือ ผู้แทนอย่างน้อย 1 คน ร่วมเป็นองค์ประกอบด้วย โดย ก.ค.ศ.ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ” รมว.ศธ. กล่าว


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2565 

โพสต์เมื่อ 19 ก.ย. 2565 อ่าน 2402 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 1946]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 360]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 917]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 16727]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 813]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)