สพฐ. เร่งวิเคราะห์สาเหตุ คนสอบผ่านครูผู้ช่วยได้น้อยมาก



เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ตนได้หารือ กรณีที่ สพฐ.ได้จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสพฐ. ปี 2566 โดยสอบภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และ ภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพไป เมื่อวันที่ 24-25 มิถุนายน ที่ผ่านมา และได้มีการประกาศผลการสอบภาค ก และ ภาค ข ทุกเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศแล้ว เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ดังนั้นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำจากนี้ไปคือ การจัดสอบสัมภาษณ์ ภาค ค ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละเขตพื้นที่ฯ ว่าจะจัดสอบในช่วงใด จำนวนเท่าไร แต่ตนอยากสื่อสารไปยังผู้ที่สอบผ่าน ให้เตรียมความพร้อมในการสอบ ให้เป็นไปตามที่แต่ละ คณะกนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่การศึกษากำหนด รวมถึงเอกสาร อุปกรณ์ข้อตกลงต่าง ๆ ที่อยากให้อ่านเอกสารให้ละเอียด เพราะไม่อยากให้เสียโอกาส ขณะเดียวกันขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่สอบไม่ผ่าน โดยถ้าดูจากผลการดำเนินการสอบครั้งนี้ คิดว่า ในปี2567 ก็จะมีการจัดสอบอีกครั้ง เพราะจำนวนการขึ้นบัญชีครั้งนี้อาจเพียงพอเฉพาะเรียกปี 2566 แต่ไม่เพียงพอสำหรับการเรียกใช้บัญชีในปีหน้า

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า จากการวิเคราะห์ การสอบแข่งขันปี 2566 ซึ่งแบ่งการจัดสอบเป็นคลัสเตอร์ ตามกลุ่มจังหวัด โดยมีมหาวิทยาลัยดำเนินการออกข้อสอบ นั้นพบว่า ข้อสอบที่ออกโดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) มีผู้ผ่านเกณฑ์ ประมาณ 32.25% มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ที่ออกข้อสอบให้กับสํานักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) มีผู้สอบผ่าน กว่า 40% ส่วนข้อสอบของมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)อุดรธานี มีผู้สอบผ่านประมาณ 10% ขณะที่ ของ มรภ.อุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยทางภาคใต้ มีผู้ผ่านจำนวนน้อย ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการครูดังนั้น สพฐ. จะดำเนินการวิเคราะห์และออกแบบวางแผนแก้ไขปัญหา โดยเบื้องต้นจะพิจารณาว่า หากขอใช้บัญชีจากคลัสเตอร์ใกล้เคียง หรือแต่ละภาค หรือข้ามภาค จะเพียงพอต่อการบรรจุหรือไม่ หากไม่เพียงพอก็อาจจำเป็นต้องจัดสอบอีกรอบ ในคลัสเตอร์ที่มีความจำเป็นและขาดแคลน แต่ต้องรอผลการวิเคราะห์อีกครั้ง รวมถึงจะส่งข้อมูลให้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) นำไปวิเคราะห์หลักเกณฑ์และวิธีการว่า สาเหตุที่ทำให้ครูสอบผ่านน้อย เกิดจากปัจจัยหรือสาเหตุใด เช่น ข้อสอบยากเกินไป หรือ บางวิชา ผู้เข้าสอบไม่มีความถนัด ส่งผลให้ผู้เข้าสอบ ทำข้อสอบไม่ได้ เช่น วิชาภาษาอังกฤษ ที่มีการแสวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อได้ผลการวิเคราะห์แล้ว ก็จะเสนอข้อมูลให้ทางก.ค.ศ เพื่อนำไปปรับปรุงในโอกาสต่อไป

“และจากการติดตามผลการเยี่ยมบ้านนักเรียนและการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในเดือนมิถุนายน ซึ่งถือเป็นเดือนแห่งการเยี่ยมบ้านนักเรียน และติดตามดูแลช่วยเหลือนักเรียนพบว่า สามารถติดตามเด็กที่หลุดจากระบบให้ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้มากกว่า99.66% ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ก็อยากฝากผู้บริหารและครูว่า เมื่อนักเรียนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว ทำอย่างไรจะให้เด็กอยู่ในระบบจนจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเรียนอย่างมีความสุข ไม่หลุดออกจากระบบอีก” ดร.อัมพร กล่าวและว่านอกจากนี้ ขอฝากไปยัง ครูอัตราจ้าง หรือพนักงานราชการ ที่สอนอยู่ในโรงเรียนต่าง ๆเกิน 3 ปี หรือ ทำงานอยู่ สํานักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เกิน 2 ปี ขอให้เตรียมตัวให้พร้อม เนื่องจากสพฐ.อยู่ระหว่างเตรียมการจัดสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว16) กรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ สังกัด สพฐ.ซึ่งจะเปิดรับสมัครวันที่ 21-27 กรกฎาคม2566 สอบข้อเขียนภาค ก ความรอบรู้และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครู และสอบภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่งวันที่ 19 สิงหาคม สอบสัมภาษณ์ วันที่ 20 สิงหาคม และประกาศผลสอบภายในวันที่ 24 สิงหาคม โดยขอให้ทุกคนติดตามความคืบหน้า จากนั้น จะมีการจัดทำปฏิทินการจัดสอบผู้บริหารสถานศึกษา และรองผู้บริหารสถานศึกษา ในลำดับต่อไป โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 5 กรกฏาคม 2566 

โพสต์เมื่อ 6 ก.ค. 2566 อ่าน 10766 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


การขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ปีการศึกษา 2567 [อ่าน 215]
โครงการพัฒนาโภชนาการเด็ก FOOD FOR GOOD "โภชนาการที่ดี คือรากฐานของการเจริญเติบโต" [อ่าน 74]
อำนาจในการอนุมัติจ่ายเงินเพื่อประโยชน์การศึกษา [อ่าน 222]
สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 6381]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 486]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)