ทีดีอาร์ไอชี้ วิกฤตการศึกษาไทยเรื้อรังมากว่า 10 ปี หลักสูตรไม่ทันสมัย



การศึกษาไทยวิกฤตเรื้อรังมา 10 ปี ยังไม่ถูกแก้ ทีดีอาร์ไอ เปิดงานวิจัยชี้ รัฐลงทุนการศึกษาสูงระดับต้นของโลกแต่พัฒนาไม่ถูกจุด แนะ 3 แนวทางแก้เร่งด่วน “ลดภาระครู-ยกเครื่องหลักสูตรใหม่-ยุบควบโรงเรียนเล็ก”

วันที่ 13 ธันวาคม 2566 หลังจากที่ผลสอบ PISA 2022 รายงานว่าเด็กไทยมีคะแนนตกต่ำสุดในรอบ 20 ปี สะท้อนถึงระบบการศึกษาไทยถึงขั้นวิกฤต หากไม่หาแนวทางปรับเปลี่ยนจะทำให้ความสามารถแรงงานไทยแข่งขันกับประเทศอื่นยาก ทั้งนั้นสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้แถลง “ผลสอบ PISA สัญญาณเตือนวิกฤตการศึกษา แก้ปัญหาให้ถูกจุด” พร้อมกับวิเคราะห์ถึงระบบการศึกษาไทยว่ากำลังเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง

นายพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโสด้านการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า จากผลประเมิน PISA 2022 สะท้อนให้เห็น 4 ด้านคือ 1.ความสามารถของเด็กไทยเริ่มห่างไกลความสามารถของเด็กทั้งโลกมากขึ้นทุกที 2.PISA ระบุว่าโควิดเป็นปัจจัยทำให้การเรียนรู้ของเด็กถดถอย แต่จากผลการวิเคราะห์ โควิดไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ความสามารถของเด็กไทยลดลง 3.คะแนนที่ออกมาสะท้อนว่าระบบการศึกษาไทยกำลังอ่อนแอลงเนื่องจากเรามีเป้าหมายการเรียนรู้ หรือหลักสูตรที่ไม่ทันสมัย และมีข้อจำกัด เรื่องการใช้ทรัพยากร และใช้ทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ 4.เราต้องแก้อย่างเร่งด่วน

“PISA ระบุว่าความรู้ที่เด็กมียังไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำได้ โดยเฉพาะการอ่าน เด็กอายุ 15 ปี กว่า 65% ไม่สามารถอ่านจับใจความหรือบทความสั้นๆ ได้ รวมถึงวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ก็ยังไม่สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาหรืออธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ ถึงแม้ว่าการศึกษาของไทยจะสร้างเด็กที่เป็นแชมป์ด้านต่าง ๆ ได้ แต่มีเพียง 1% เท่านั้น และยิ่งไปกว่านั้น อนาคตมีแนวโน้มผลิตเด็กที่จะไปแข่งขันและได้แชมป์ด้านต่างๆ ลดลงเรื่อย ๆ”

เช่นเดียวกับ ในแง่ของความเหลื่อมล้ำยังสูง หากแบ่งกลุ่มเด็กตามฐานะทางเศรษฐกิจจะพบว่า เด็กที่มาจากพื้นฐานครบครัวดี จะมีคะแนนมากกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำสุด ซึ่งช่องว่างระหว่างเด็กสองกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นปัญหามากว่า 10 ปี อีกทั้งช่วงโควิดที่มีการปิดโรงเรียนยังพบว่าเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้สูง สามารถเอาตัวรอดได้จากการเรียนเพิ่มเติม แต่เด็กฐานะยากจนยังต้องเพิ่งพาโรงเรียน”

หลักสูตรล้าหลัง

นายพงศ์ทัศกล่าวอีกว่า หลักสูตรการเรียนในไทยยังไม่ทันสมัย เนื่องจากเราใช้หลักสูตรแกนกลางมากกว่า 15 ปีแล้ว ที่ผ่านมามีการปรับเล็กแต่ปรับเป็นรายวิชา แต่โครงสร้างโดยรวมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และยังมีการสอนในรูปแบบเดิม ๆ

ทีมวิจัยวิเคราะห์หลักสูตรปัจจุบันพบว่าไม่น่าจะทำให้เกิดสมรรถนะได้ เพราะเน้นความรู้เป็นหลัก พบว่าตัวชี้วัดกว่า 88% ยังวัดแค่ความรู้เป็นหลัก มีแค่ 4% ที่เป็นการส่งเสริมรอบด้านที่สำคัญความรู้ส่วนใหญ่เป็นการท่องจำยังไม่ได้ยกระดับไปถึงขั้นประเมิน หรือวิเคราะห์ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทั้งนี้ทีดีอาร์ไอมองว่าหลักสูตรมีความสำคัญ สะท้อนว่ารัฐมีความคาดหวังว่าให้เด็กทำอะไรได้ หลังจากเรียนครบทั้งหลักสูตร

ใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพ

หากดูในแง่ของการใช้ทรัพยากร และเงินลงทุน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยลงทุนด้านการศึกษาสูง ในระดับต้น ๆ ของโลก เมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน ดังนั้นจะเห็นว่าไทยใช้เงินลงทุนมาก แต่ผลลัพธ์ไม่น่าพอใจ “แสดงว่าเงินไม่ใช่ปัญหาของไทย แต่อาจะเป็นเพราะเราใช้เงินไม่ตรงจุด ใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพ”

“งบประมาณโดยส่วนใหญ่จะถูกใช้เป็นเงินเดือนครู แต่ไทย มีปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนประถมกว่า 90% เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กน้อยกว่า 120 คน อีกทั้งครูไม่ครบชั้น ดูแลไม่ทั่วถึง แต่ถ้าจะเพิ่มครูให้ครบชั้น เราต้องเติมครูเข้าระบบอีกประมาณ 50,000 คน ซึ่งถ้าคำนวณเงินเดือนครูใหม่ประมาณ 15,000 บาท อาจใช้เงินมากกว่า 9 พันล้านบาทต่อปี

ซึ่งครูเป็นเรื่องจำเป็น เพราะ ผล PISA ระบุอีกว่าโรงเรียนที่ขาดแคลนครู มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าโรงเรียนที่มีครูครบ นอกจากนั้น งบที่ใช้ราว 11% เป็นการใช้เพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้รัฐเป็นฝ่ายตัดสินใจ โรงเรียนไม่มีอิสระในการตัดสินใจใช้จ่ายเอง

อีกหนึ่งปัญหาคือ ครูมีภาระงานอื่นมากเกินไป เช่นต้องทำประเมินด้านต่าง ๆ ทำให้ไม่มีเวลาสอนเด็กอย่างเต็มที่ โดยผลสำรวจของทีดีอาร์ไอ พบว่าภาระที่ครูมีความกังวลใจมากที่สุดคือการรายงานผลโครงการต่าง ๆ

ทีดีอาร์ไอ ได้สำรวจครู 214 คน ในระยอง ศรีษะเกษ สตูล เชียงใหม่ กาญจนบุรี และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เราตั้งคำถามด้วยว่าปีที่ผ่านมา 2564 รู้สึกภาระงานเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนมากแค่ไหน ซึ่งงานที่ครูรู้สึกว่าเป็นปัญหามากที่สุดก็คือ การรายงานผลตามนโยบาย หรือโครงการของกระทรวง รวมถึงการประสานงานกับองค์กรอื่น ๆ เหล่านี้เป็นปัญหาที่สอดคล้องกัน”

กรณีศึกษา สิงคโปร์-ฟินแลนด์

อย่างไรก็ตาม ทีดีอาร์ไอ ยกตัวอย่างประเทศที่มีระบบการศึกษาดีอย่าง สิงคโปร์ และฟินแลนด์ โดยสิงคโปร์จะมีความโดดเด่นด้านการพัฒนาและผลิตครู ส่วนฟินแลนด์โดดเด่นด้านหลักสูตรและการสอน โดยสิงคโปร์มีหลักสูตรที่มีเกณฑ์ว่าต้องปรับทุก 6 ปี และเน้นสมรรถนะ ซึ่งคล้ายกับประเทศไทย เน้นปรับเป็นศาสตร์รายวิชา แต่สิงคโปร์มีการบูรณาการมากกว่า ส่วนการผลิตครู จะต้องมีความมั่นใจว่า ครูสามารถนำหลักสูตรมาใช้ได้อย่างเต็มที่ และต้องเชื่อมโยงความต้องการของโรงเรียน ไม่ได้ผลิตจำนวนน้อยหรือมากจนเกินไป

ทั้งยังมีการสนับสนุนให้เป็นครูพิเศษ สนับสนุนการศึกษา ค่าครองชีพ มีการตรวจสอบค่าครองชีพ ค่าตอบแทน และตรวจสอบอาชีพอื่น ๆ ข้างนอกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับให้ค่าจ้างครูให้สามารถแข่งขัน หรือดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาเป็นครูได้ตลอด รวมถึงมีการประเมินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประเมินก็จะแตกต่างกันตามตำแหน่งครู หรือประสบการณ์ของครู

ส่วนฟินแลนด์ จะมีหลักสูตรต่างกัน แต่มีกติกาเหมือนกันว่าต้องปรับทุก 10 ปี แต่เรื่องของเป้าหมาย สมรรถนะไม่เน้นศาสตร์เหมือนไทย แต่เน้นเรื่องการบูรณาการ เรียนรู้ผ่านการวิจัย ส่วนการพัฒนาครู ให้ครูนำหลักสูตรไปใช้สอนอย่างเต็มที่ และฟินแลนด์มีการจัดสรรเวลาให้ครูไปพัฒนาวิชาชีพร่วมกัน เช่น พัฒนาหลักสูตร กิจกรรมการเรียนการสอน 100 ชั่วโมงต่อปี

อย่างไรก็ตามถึงแม้ 2 ประเทศจะมีความแตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมกันคือ ณ ปัจจุบัน หลักสูตรมีความทันสมัย มีความพยายามที่จะปรับอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้หลักสูตรมีการอัพเดทอยู่เสมอ ต่อมาคือ มีการออกแบบระบบการผลิตพัฒนาครู เพื่อให้มีความมั่นใจว่าครูสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนะลดภาระครู ปรับหลักสูตร

ทั้งนี้ทีมวิจัยทีดีอาร์ไอมองว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะยกเครื่องเรื่องการศึกษาอย่างเร่งด่วน และแก้ให้ตรงจุด โดยมี 3 ข้อเสนอ เพื่อปรับปรุงคุณภาพการศึกษาไทย ดังนี้

ระยะสั้น ภายใน 1 ปี ลดภาระงานอื่นครู ให้ครูสอนเต็มที่ กระทรวงศึกษา ควรทบทวนโครงการต่าง ๆ ที่ต้องรายงานผล ปีต่อไปไม่ต้องสร้างตัวชี้วัดใหม่ๆ เพื่อให้โรงเรียนรายงาน แต่ควรนำผลลัพธ์จากระบบปกติมารายงาน เช่น คะแนนสอบ คุณภาพต่าง ๆ
ระยะกลาง 3 ปี ยกเครื่องหลักสูตร ออกแบบระบบ อื่น ๆ ให้รองรับหลักสูตรใหม่ เพื่อให้พร้อมนำไปใช้ โดยที่ควรปรับหกลักสูตรแกนหลาง ให้มีความใหม่มากขึ้น และส่งเสริมใก้เกิดการคิดขั้นสูง ทดลอง นำไปใช้ ขณะเดียวกันก็ควรออกระบบอื่น ๆ เพื่อให้ครูได้สอนสิ่งใหม่ๆ ได้
ระยะยาว เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการศึกษาไทย คือการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก รัฐควรมีนโยบายชัดเจน อาจจะเริ่มจากข้อเสนอของธนาคารโลก เรื่องการบริหารควบรวมและการพัฒนาเครือข่าย หมายความว่า บริหารควบรวมโรงเรียนเล็กที่ห่างกันไม่มากที่สามารถเคลื่อนย้ายเด็กได้ ส่วนโรงเรียนที่ควบรวมไม่ได้ จำเป็นต้องมีอยู่ก็ต้องเพิ่มทรัพยากรให้เพียงพอ
อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการ ต้องมีการยกระดับร่วมกับชุมชน สื่อสารทั้งสองทางให้มีความเข้าใจว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร จำเป็นให้ชุมชนตัดสินใจเต็มถ้าหากมีการยุบ ควบ รวมโรงเรียน และรัฐต้องสร้างหลักประกันสัญญาที่ให้ไว้ว่า ทรัพย์สินของโรงเรียนที่ถูกยุบจะเอาไปใช้ทำอะไร มีหลักประกันว่า จะต้องเป็นไปตามนั้น

และประเด็นสำคัญ ควรมีการออกแบบสร้างแรงจูงใจให้ครูอยากไปทำงานในโรงเรียนที่ห่างไกล เราต้องมีการศึกษาวิจัยด้วยว่า ว่าแต่ละพื้นที่ควรมีมาตรการแบบไหน เพื่อตอบโจทย์ให้ครู ไปทำงานโรงเรียนที่อยู่ไกลได้

“การแก้ปัญหาเหล่านี้ อาจไม่มีวิธีที่จะทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะจำเป็นต้องปรับทั้งระบบ สิ่งที่ไม่ควรทำคือการอบรมครูเป็นครั้ง ๆ แม้จะให้ผู้เชี่ยวชาญมาอบรม ก็ไม่อาจจะตอบโจทย์หรือแก้ได้ตรงจุด เพราะโครงสร้างระบบการศึกษาไม่ได้เปลี่ยน ไม่คิดว่าจะเกิดผลดีในระยะยาว และไม่ควรจะมีการจัดสอบมากมาย เนื่องจากว่าไม่ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์จริง”

ผู้นำต้องให้ความสนใจการศึกษา

ด้านดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาไทย มีนโยบายที่สอดคล้องกับข้อเสนอของทีดีอาร์ไอคือ การลดภาระงานครูในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนที่ทำได้ แต่สิ่งที่ยากสุดอาจเป็นเรื่องการเปลี่ยนหลักสูตร เพราะต้องอาศัยความมุ่งมั่นทางการเมืองด้วย ไม่เช่นนั้นเด็กไทยจะปรับตัวกับความท้าทายของโลกไม่ทัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำ

“ที่ผ่านมาเรามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาแล้วหลายคน แต่ละช่วงมักจะอยู่ระยะสั้น จึงทำให้ไม่เกิดการผลักดันการปฏิรูปการศึกษา จะเห็นว่าการเมืองก็มีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าหากมีประสิทธิภาพ หรือแข็งแรง ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

ทั้งนี้มองว่าการที่ใครก็ตามจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาเข้ามาดูแลระบบการศึกษาไทย หากจะคาดหวังให้เป็นผู้ที่มีภูมิหลังเกี่ยวกับการศึกษาก็คงยาก แต่ให้มองว่ามีความสนใจด้านการศึกษามากน้อยแค่ไหน ขอให้มีความสนใจและมีความสามารถในการขับเคลื่อน เข้าใจว่าอะไรคือปัญหา แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว เราอยากเห็นผู้นำมีความเข้าใจแม้ไม่มีภูมิหลังการศึกษา แต่รับข้อมูลมาและไตร่ตรอง เดินหน้าปรับปรุงไปด้วยกัน”


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 13 ธันวาคม 2566 

โพสต์เมื่อ 14 ธ.ค. 2566 อ่าน 14323 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ประกาศผลสอบบรรจุ ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) พ.ศ.2567 [อ่าน 3168]
ครม.ต่ออายุโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล [อ่าน 398]
ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) ประจำโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 [อ่าน 982]
กมว.อนุมัติตั๋วครูชั่วคราว 8 สาขาขาดแคลนที่ไม่ได้จบสายครูโดยตรง [อ่าน 17773]
ว 12/2567 วิธีการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา ผ่านระบบการบริหารอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (SCS) สังกัด สพฐ. [อ่าน 895]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)