บทคัดย่อ
การศึกษาการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะ เรื่อง การคูณ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีความมุ่งหมาย เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะ กลุ่มสาระ การเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 ศึกษาค่าดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะ ทำการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน และ ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยแบบฝึกทักษะ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านศาลเจ้าพ่อ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 3 จำนวน 28 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณ แบบฝึกทักษะ 12 เล่ม แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ และแบบสอบถามความคิดเห็น วิเคราะห์ข้อมูลหาค่าประสิทธิภาพของแบบฝึกคณิตศาสตร์ โดยหาค่าร้อย ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยทดสอบค่าที (t-test ) และศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้
ผลการศึกษาพบว่า
1. แบบฝึกทักษะ เรื่อง การคูณ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 84.52 / 82.65 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 80/80
2. แบบฝึกทักษะ เรื่อง การคูณ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีค่าดัชนีประสิทธิผลในการเรียนรู้เท่ากับ 0.7414 ซึ่งหมายความว่า แผนการจัดการเรียนรู้และบทเรียนสำเร็จรูปทำให้นักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 74.14
3. นักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะ เรื่อง การคูณ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนมีความพึงพอใจโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.95 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.64
ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพสูงพอที่จะสามารถนำมาใช้เป็นสื่อนวัตกรรมเพื่อใช้แก้ปัญหาในการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ได้ ดังนั้น ครูผู้สอนควรมีการพัฒนาการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะประกอบการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ ด้วย เพื่อส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น และทำให้นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียน