การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ 1) เพื่อศึกษาผลการใช้ชุดกิจกรรมพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนอนุบาลเมืองเสลภูมิ 2) เพื่อเปรียบเทียบความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนอนุบาลเมืองเสลภูมิ ก่อนและหลังการพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้ชุดกิจกรรม
การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการประกอบด้วย 4 ขั้นคือ ขั้นวางแผน ขั้นปฏิบัติการ ขั้นสังเกตการณ์ และขั้นสะท้อนผล ซึ่งผู้วิจัยได้ดำเนินการพัฒนา 1 วงรอบ และได้ออกแบบการวิจัยเป็นแบบสอบวัดผลก่อนและหลังปฏิบัติการ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการพัฒนาในครั้งนี้ ได้แก่ เด็กอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนอนุบาลเมืองเสลภูมิ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 จำนวน 16 คน ระยะเวลาในการดำเนินการพัฒนา ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ มี 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ แผนการจัดประสบการณ์ จำนวน 24 แผน และชุดกิจกรรม จำนวน 24 ชุด ประเภทที่ 2 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบประเมินความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และแบบบันทึกประจำวันของครู การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ วิเคราะห์โดยการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ตีความ สรุป และรายงานผลในลักษณะบรรยาย การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์โดยใช้สถิติพื้นฐาน ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( ) ร้อยละ ทดสอบความแตกต่างของความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ก่อนและหลังการพัฒนา โดยใช้สถิติ Nonparametrics การทดสอบลำดับพิสัย Wilcoxon ซึ่งวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป
ผลการวิจัยพบว่า
1. หลังการพัฒนา ผู้วิจัยได้ประเมินทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็ก โดยใช้แบบประเมินทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ผลปรากฏว่าเด็กทุกคน มีคะแนนความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม จากการใช้ชุดกิจกรรมจัดประสบการณ์สำหรับเด็กอนุบาล ที่เปิดโอกาสให้เด็กลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง กล่าวคือ ได้สังเกต ค้นคว้า ทดลองกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ เกิดความอยากรู้อยากเห็นและต้องการที่จะปฏิบัติ ซึ่งในแต่ละวันกิจกรรมจะมีความแตกต่างกันไปตลอดเวลา เด็กได้ค้นพบการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยตนเอง มีความสุขในการเรียนรู้ ได้เรียนรู้จากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทำให้เด็กมีความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ดีขึ้น
2. เปรียบเทียบความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ก่อนและหลังการใช้ชุดกิจกรรมพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ พบว่า เด็กมีความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เฉลี่ยหลังการพัฒนา
( = 20.63) สูงกว่าก่อนการพัฒนา ( = 10.19) การทดสอบความแตกต่างระหว่างก่อนและหลังการพัฒนา พบว่า เด็กมีความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์หลังการพัฒนาสูงกว่าก่อนการพัฒนา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัย