รายงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาคู่มือการทำวิจัยในชั้นเรียนสำหรับครูในโรงเรียน
สังกัดเทศบาลเมืองทุ่งสง
ผู้วิจัย นางจตุพร แก้วเนิน
ปีการศึกษา 2557
บทคัดย่อ
การวิจัย เรื่อง การพัฒนาคู่มือการทำวิจัยในชั้นเรียนสำหรับครูในโรงเรียน สังกัดเทศบาลเมืองทุ่งสง เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาคู่มือการทำวิจัยในชั้นเรียน 2) เพื่อพัฒนาคู่มือการทำวิจัยในชั้นเรียน 3) เพื่อทดลองใช้คู่มือการทำวิจัยในชั้นเรียน และ 4) เพื่อประเมินผลคู่มือการทำวิจัยในชั้นเรียน ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยมีการพัฒนาคู่มือ 4 ขั้นตอน คือ 1) การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน 2) การพัฒนาคู่มือ 3) การทดลองใช้คู่มือ และ 4) การประเมินผลและปรับปรุง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาข้อมูลพื้นฐานความต้องการและความจำเป็นในการจัดทำคู่มือการทำวิจัยในชั้นเรียนสำหรับครู ได้แก่ แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structure Interview) และแบบสอบถามแบบปลายเปิด (Opened form) 2) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลคู่มือ ได้แก่ แบบประเมินความรู้ ความเข้าใจของครูเกี่ยวกับการจัดทำวิจัยในชั้นเรียนสำหรับครู แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structure Interview) เกี่ยวกับความคิดเห็นของครูภายหลังการทดลองใช้คู่มือการทำวิจัยในชั้นเรียนสำหรับครู และแบบประเมินความสามารถของครูในการจัดทำวิจัยในชั้นเรียนสำหรับครู จากนั้นนำมาปรับปรุงแก้ไข ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองทุกขั้นตอน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบ t-test dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) นำเสนอในรูปแบบการเขียนพรรณนาความ
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาคู่มือการทำวิจัยในชั้นเรียน พบว่า ทุกคนเห็นด้วยกับการจัดทำคู่มือการทำวิจัยในชั้นเรียน เนื่องจากเห็นว่า ผลการวิจัยสามารถนำไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอน ใช้เป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาการเรียนการสอน รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพครูอีกด้วย โดยผู้วิจัยสามารถนำผลการวิจัยไปใช้เป็นผลงานวิชาการ เพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะหรือปรับตำแหน่งให้สูงขึ้นได้
2. ผลการพัฒนาคู่มือการทำวิจัยในชั้นเรียน พบว่า คู่มือการทำวิจัยในชั้นเรียนสำหรับครู ควรประกอบด้วย คำนำ สารบัญ สารบัญภาพ ตอนที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับวิจัยในชั้นเรียน ตอนที่ 2 การแสวงหาและการพัฒนานวัตกรรม ตอนที่ 3 การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล ตอนที่ 4 การเขียนโครงร่างและรายงานวิจัยในชั้นเรียน และตอนที่ 5 บทสรุปเกี่ยวกับการวิจัยใน ชั้นเรียน โดยพบว่า คู่มือการทำวิจัยในชั้นเรียน มีค่าดัชนีความสอดคล้องเท่ากับ 0.94
3. ผลการทดลองใช้คู่มือการทำวิจัยในชั้นเรียน โดยนำคู่มือการทำวิจัยในชั้นเรียนสำหรับครู ไปทดลองกับครูในโรงเรียน สังกัดเทศบาลเมืองทุ่งสง จำนวน 30 คน ดำเนินการจัดทำวิจัยในชั้นเรียนสำหรับครู จำนวน 5 ตอน ทำให้ครูสามารถจัดทำวิจัยในชั้นเรียนสำหรับครู ได้ถูกต้องตามหลักการวิจัยในชั้นเรียนสำหรับครู
4. ผลการประเมินผลและปรับปรุงคู่มือการทำวิจัยในชั้นเรียน ด้านการประเมินความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำวิจัยในชั้นเรียน พบว่า ครู มีค่าเฉลี่ยระดับความรู้ความเข้าใจหลังจากศึกษาคู่มือการทำวิจัยในชั้นเรียน อยู่ในระดับมาก และการประเมินความสามารถของครูในการจัดทำวิจัยในชั้นเรียน อยู่ในระดับดี