บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา (3PE Model) ให้มีประสิทธิภาพ 2) เพื่อศึกษาประสิทธิผลรูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา (3PE Model) 3) เพื่อขยายผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา (3PE Model) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 กำลังเรียนภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนบ้านสำนักไม้เรียบ จำนวน 20 คน
และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ขยายผลการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลอง จำนวน 21 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านจับใจความ แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทีแบบไม่อิสระและแบบอิสระและการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า 1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความสำหรับนักเรียนประถมศึกษา (3PE Model) มีองค์ประกอบคือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการจัดการเรียนรู้และเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ กระบวนการเรียนการสอนมี 4 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นเตรียมความพร้อม (Preparation : P) 2) ขั้นการนำเสนอเนื้อหา (Presentation : P) 3) ขั้นการฝึกทักษะ (Practice : P) ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้นตอนย่อย คือ ขั้นการฝึกทักษะโดยการชี้แนะ (Guided Practice) ขั้นการฝึกทักษะโดยกิจกรรมกลุ่ม (Group Practice) และขั้นการฝึกทักษะอย่างอิสระ (Independent Practice) และ 4. ขั้นการประเมินผล (Evaluation : E) โดยที่รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา
(3PE Model) ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.82/83.83 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้ 2. หลังการเรียนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยภาพรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมาก 4. ผลการขยายผล พบว่า หลังการเรียนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อส่งเสริมความสามารถในการอ่านจับใจความสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยภาพรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมาก