ชื่อเรื่อง รายงานผลการพัฒนาความคิดโดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์
แบบต่อเติมผลงานของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล ๔
(บ้านกำปงตาโก๊ะ) อำเภอเมือง จังนราธิวาส
ผู้วิจัย นางซากีเร๊าะ ดอเลาะห์
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการ
ปีการศึกษา 2558
บทคัดย่อ
รายงานผลการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์แบบต่อเติมผลงานของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล ๔ (บ้านกำปงตาโก๊ะ) ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์แบบต่อเติมผลงานให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนอนุบาลปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์แบบต่อเติมผลงานกับกิจกรรมสร้างสรรค์แบบปกติ ของนักเรียนอนุบาลปีที่ 3 3) เพื่อเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนอนุบาลก่อนและหลังได้รับการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์แบบต่อเติมผลงานของนักเรียนอนุบาลปีที่ 3 4) เพื่อเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนอนุบาลปีที่ 3 ก่อนและหลังได้รับการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์แบบปกติ กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนอนุบาล ชาย-หญิง อายุระหว่าง 5-6 ปี กำลังศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 ของโรงเรียนเทศบาล ๔ (บ้านกำปงตาโก๊ะ) อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส จำนวน 2 ห้องเรียน รวม 51 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง กลุ่มทดลอง คือนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3/1 จำนวน 26 คน ได้รับการจัดประสบการณ์กิจกรรมสร้างสรรค์แบบต่อเติมผลงาน กลุ่มควบคุม คือ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3/2 จำนวน 25 คน ได้รับการจัดประสบการณ์ แบบปกติ
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 1) กิจกรรมสร้างสรรค์แบบต่อเติมผลงาน จำนวน 4 สาระ 8 หน่วยการเรียนรู้ 40 กิจกรรม 2) แบบสังเกตพฤติกรรมจัดประสบการณ์จากกิจกรรมสร้างสรรค์แบบต่อเติมผลงาน 3) แบบสังเกตความคิดสร้างสรรค์จัดประสบการณ์จากกิจกรรมสร้างสรรค์แบบต่อเติมผลงาน 4) แบบสังเกตพฤติกรรมจัดประสบการณ์กิจกรรมสร้างสรรค์แบบปกติ 5) แผนการจัดประสบการณ์กิจกรรมสร้างสรรค์แบบต่อเติมผลงาน จำนวน 40 แผน 6) แผนการจัดประสบการณ์กิจกรรมสร้างสรรค์แบบปกติ จำนวน 35 แผน 7) แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ โดยอาศัยรูปภาพแบบ ก สำหรับใช้ทดสอบความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 เพื่อทดสอบก่อนและหลังการจัดกิจกรรม กิจกรรมชุดที่ 1 การวาดภาพ จำนวน 1 ภาพ กิจกรรมชุดที่ 2 การวาดภาพให้สมบูรณ์ จำนวน 10 ภาพ กิจกรรมชุดที่ 3 การวาดภาพต่อเติมเส้นคู่ จำนวน 30 ภาพ
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. กิจกรรมสร้างสรรค์แบบต่อเติมผลงานมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ
86.20/85.00
2. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์แบบต่อเติมผลงานมีความคิด สร้างสรรค์สูงกว่าเด็กอนุบาลที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์แบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์แบบต่อเติมผลงานมีความคิดสร้างสรรค์หลังทดลองสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์แบบปกติมีความคิดสร้างสรรค์หลังทดลองสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01