เสมา 1 มอบนโยบาย สมศ. มุ่งประเมินเพื่อพัฒนา หวังให้เป็นกระจกสะท้อนผลการจัดการศึกษา พร้อมผลักดันสถานศึกษานำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามนโยบาย ศธ.



กรุงเทพฯ 21 พฤษภาคม 2567 - พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้มอบนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่มอบให้แก่ผู้บริหารเขตพื้นที่และสถานศึกษานำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายสำคัญสูงสุด คือ ตัวผู้เรียนที่จะทำอย่างไรให้ “เรียนดี มีความสุข” เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2567 ดังนี้

1. ด้านความปลอดภัยของสถานศึกษา ให้คำนึงถึงสวัสดิภาพของนักเรียน ตั้งแต่เดินทางออกจากบ้าน เข้าสู่ประตูรั้วโรงเรียนจนออกจากโรงเรียน และเดินทางถึงบ้านพักนักเรียน

2. ด้านการเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น การจัดกิจกรรมเยี่ยมบ้าน กิจกรรมเสริมทักษะเพิ่มเติม เป็นต้น

3. ด้านเครือข่ายและการสร้างความร่วมมือ สถานศึกษาประสานเครือข่ายและสร้างความร่วมมือ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมเสริมทักษะชีวิต บูรณาการความร่วมมือการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กนักเรียน เป็นต้น

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพนั้น จำเป็นต้องใช้หลักการบริหารจัดการ เช่นเดียวกับการบริหารหรือดำเนินกิจการต่าง ๆ ที่ต้องมีการดำเนินงานให้เป็นระบบโดยมีขั้นตอนที่สำคัญคือการประเมินผลการดำเนินงานเพื่อให้ได้ข้อมูลย้อนกลับ อันจะสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาว่าบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้เพียงใด รวมถึงมีจุดอ่อนหรือปัญหาในเรื่องใดบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การวางแผนและการดำเนินงานระยะต่อไปบรรลุเป้าหมายอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ การจัดการศึกษาจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการประเมินผลการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการประเมินคุณภาพภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เพื่อทำให้เกิดกลไกในการตรวจสอบอย่างจริงจัง รวมทั้งกระตุ้นให้หน่วยงานที่จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชาติถึงหน่วยงานที่เล็กที่สุดคือโรงเรียนและภายในห้องเรียนต้องมีการประเมินตนเองเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวเสริมว่า สำหรับแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอก ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นั้น ได้มอบนโยบายให้ สมศ. ให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพภายนอกเพื่อการพัฒนา และยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) โดยใช้รูปแบบการประเมินที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบท และเป้าหมายของสถานศึกษา เป็นการประเมินที่เน้นสะท้อนภาพความเป็นจริง พร้อมให้ข้อเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์ ไม่ได้ประเมินเพื่อตัดสินผลว่าผ่านหรือไม่ผ่าน แต่มุ่งหวังให้เป็นการประเมินที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลงของสถานศึกษาไปในทางที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำให้ สมศ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพผู้ประเมินภายนอกอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ประเมินภายนอกเป็นเสมือนตัวแทนของ สมศ. ที่ทำการประเมินคุณภาพภายนอกและให้ข้อเสนอแนะแก่สถานศึกษา จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อที่จะสามารถให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ตรงกับบริบทของสถานศึกษา และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ยังกำชับให้ สมศ. เน้นย้ำกับผู้ประเมินภายนอกให้ทำการประเมินคุณภาพภายนอกที่สะท้อนผลลัพธ์ด้านคุณภาพผู้เรียน ให้ข้อเสนอแนะที่ปฏิบัติได้จริง เป็นรูปธรรม และสอดคล้องตามบริบทของสถานศึกษา เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษานำผลการประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาได้อย่างแท้จริง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้มอบนโยบายให้ สมศ. ดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนก่อน เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขยายโอกาส เป็นต้น ทั้งนี้ ในกรณีที่ผลการประเมินไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด สมศ. จะต้องประเมินเพื่อติดตามผลการพัฒนาในรอบ 6 เดือน หรือรอบ 12 เดือน อีกครั้ง ภายใต้แนวคิด “ลดภาระ เรียนดี มีความสุข” โดยต้องไม่สร้างภาระให้สถานศึกษาและครูเพิ่มเติม กล่าวคือ

1. ไม่ร้องขอให้สถานศึกษาจัดเตรียมเอกสารเพื่อรับการประเมิน โดยใช้ข้อมูลจากการทำงานปกติของสถานศึกษา ทั้งนี้ผู้ประเมินภายนอกอาจพิจารณาร่องรอยหลักฐานเพิ่มเติมได้จากเอกสารหรือไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ที่โรงเรียนมีอยู่แล้ว

2. ลดจำนวนวันในการประเมิน โดยสถานศึกษาแต่ละแห่งอาจได้รับการประเมินด้วยจำนวนที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 1-3 วัน ตามบริบทของสถานศึกษา กรณีที่สถานศึกษามีคุณภาพสูงกว่ามาตรฐานอาจจะไม่ต้องลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม แต่ใช้วิธีการตรวจเยี่ยมแบบ Virtual Visit เช่นเดียวกับที่หน่วยงานประเมินในต่างประเทศดำเนินการ

3. ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการประเมินคุณภาพภายนอกตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การจัดส่ง SAR ของสถานศึกษา การจัดเก็บข้อมูลและการจัดทำรายงานผลการประเมินการส่งรายงานผลการประเมินให้กับหน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษา

4. งดการจัดเตรียมพิธีการต้อนรับและการแสดงต่าง ๆ เพื่อไม่เป็นการเสียเวลาและเป็นภาระของสถานศึกษา รวมถึง งดรับของขวัญ ของที่ระลึกจากโรงเรียน เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและเกิดการประเมินที่โปร่งใส ตรงไปตรงมา

“ขอเน้นย้ำให้ผู้ประเมินภายนอกทำการประเมินคุณภาพภายนอกที่สะท้อนผลลัพธ์ด้านคุณภาพผู้เรียนให้ข้อเสนอแนะที่ปฏิบัติได้จริง เป็นรูปธรรม และสอดคล้องตามบริบทของแต่ละโรงเรียน เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษานำผลการประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาได้อย่างแท้จริง หวังว่าการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. จะเป็นกระจกสะท้อนผลการจัดการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลมาใช้พัฒนาคุณภาพการการศึกษาของสถานศึกษาและของประเทศโดยรวม และขอขอบคุณสถานศึกษาที่ให้ความร่วมมือ ในการประเมิน รวมถึงการนำผลการประเมินของ สมศ. ไปใช้พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาต่อไป” พลตำรวจเอกเพิ่มพูน กล่าวทิ้งท้าย

โพสต์เมื่อ 22 พ.ค. 2567 อ่าน 1669 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


แนวทางการปรับรูปแบบข้อสอบตามแนวการประเมิน PISA ในการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนในสถานศึกษาทุกระดับชั้น [อ่าน 112]
การคัดเลือกครูเข้ารับรางวัลโครงการ "ครูดีในดวงใจ" ครั้งที่ 22 ประจำปี 2568 [อ่าน 1033]
การเยี่ยมบ้านนักเรียน ปีการศึกษา 2567 [อ่าน 8059]
เสมา 1 ย้ำชัดไม่มีนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แต่จะใช้การควบรวม ใช้ทรัพยากรร่วมกันและใช้ DLTVให้มากขึ้น [อ่าน 2660]
ศธ.ย้ำ การแต่งเครื่องแบบสมาชิกยุวกาชาด กรณีไม่สามารถจัดหาเครื่องแบบได้ [อ่าน 440]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)