หน้าแรก | ครูบ้านนอกบล็อก
ศูนย์รวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ของคุณครู สมาชิกเว็บไซต์ ครูบ้านนอก.คอม ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ตั้งใจทำเพื่อสังคมครับ
เจ้าของโพสต์นี้
นายศุภวัฒน์ คุณานุวัฒน์
จากจังหวัด จันทบุรี

วันภาษาไทย 29 กรกฎาคม
โพสต์เมื่อวันที่ : 27 ก.ค. 2552 IP : เปิดอ่าน : 6340 ครั้ง
คะแนนของ BLOG นี้
(35.00%-4 ผู้โหวต)
☰แชร์เลย >  
  Share on Google+   LINE it!  
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดข่าวการศึกษา
ครูบ้านนอก Line Official
กดเพิ่มเพื่อนเลย

Advertisement

.....

วันภาษาไทย 29 กรกฎาคม



ภาษาเป็นระบบการสื่อสารที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ เพราะมนุษย์ต้องใช้ภาษาในการติดต่อ บอกความประสงค์ ความรู้สึกนึกคิด ถ่ายทอดประสบการณ์ และความรู้แก่กัน ภาษาไทยก็เป็นภาษาที่ใช้เป็นสื่อในการแสดงความรู้ ความคิด ประสบการณ์ และวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งมีลักษณะเด่นเฉพาะตัวและมีเอกลักษณ์แตกต่างจากภาษาอื่น

ปัจจุบัน การใช้ภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านที่เป็นความงอกงามของภาษา และในด้านที่ตรงข้ามซึ่งควรปรับปรุงแก้ไข กล่าวคือภาษาไทยมีคำใช้มากขึ้น เหมาะแก่ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการต่างๆ ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ภาษาอย่างมักง่าย มีการตัดคำตามสะดวก และใช้คำผิดหน้าที่ ปัญหาการใช้ภาษาไทยเป็นปัญหาที่เกิดมานาน และเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ในแต่ละยุคแต่ละสมัย

ซึ่งมีผู้เพียรพยายามที่จะรักษาความถูกต้องเพื่อรักษามาตรฐานของภาษา จึงได้มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มหาวิทยาลัย โรงเรียน สื่อมวลชนทุกแขนง รวมทั้งผู้สนใจอนุรักษ์ภาษาได้ดำเนินการแก้ไขการใช้ภาษาที่ผิดๆ ด้วยวิธีการอันหลากหลายเพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง เช่น การกำหนดให้มีการสอบวิชาภาษาไทย ในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานและทรงร่วมอภิปราย ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ หอประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ในงานวันกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสฯทรงเปิด อภิปรายในหัวข้อเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" และได้ทรงแสดงความห่วงใยการใช้ภาษาไทยดังความตอนหนึ่ง จากกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานในการทรงร่วมอภิปรายเรื่องปัญหาการใช้คำไทย ว่า

"ภาษานั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่น ในทางวรรณคดี เป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี ประเทศไทยนั้นมีภาษาเป็นของเราเอง ซึ่งต้องหวงแหน ประเทศใกล้เคียงของเราหลายประเทศมีภาษาของตนเอง แต่ว่าเขาก็ไม่ค่อยแข็งแรง เขาต้องพยายามหาทางที่จะสร้างภาษาของตนเองไว้ให้มั่นคง เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาลจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้..."

นอกจากนี้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ซึ่งแสดงความห่วงใยถึงการใช้ภาษาไทย ดังความตอนหนึ่งว่า

"ในปัจจุบันนี้ ปรากฏว่า ได้มีการใช้ถ้อยคำออกจะฟุ่มเฟือยและไม่ตรงกับความหมายจริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคน จึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้น จึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกัน เพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"

และในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าถวายฯ ชัยมงคล ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังความตอนหนึ่งว่า

"นอกจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์ เสียงจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เสียงโทกลายเป็นเสียงตรี เสียงตรีกลายเป็นเสียงจัตวา เลยทำให้ฟังดูแปลก เป็นอย่างนี้ได้อย่างไร..."

ดังนั้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย จึงเห็นชอบและมีมติให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ตามการเสนอของทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง และสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ด้านภาษาไทย และเพื่อกระตุ้นให้สถาบันการศึกษา องค์กรหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนให้ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมใจกันใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง

นำบทความมาเสนอเนื่องในวันสำคัญ ขอบคุณคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย (สมัยที่เคยเป็นรัฐบาล)
บรรณานุกรม
วรนุช อุษณกร. ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๓.

ภาพจาก http://kidsquare.com

ความเป็นมา

 

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย และเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่นๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติและ วันสื่อสารแห่งชาติเป็นต้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๒ เห็นชอบให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ

 

เหตุผล

 

ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ อันเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาติ สมควรจะได้รับการทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ไว้ให้ยั่งยืนตลอดไป

 

ทั้งนี้ในยุคปัจจุบันวิชาการและเทคโนโลยีต่างๆ ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วเกิดเทคนิคใหม่ๆ ในการติดต่อสื่อสาร มี่มุ่งเน้นความสะดวกรวดเร็ว ส่งผลให้ภาษาไทยซึ่งเป็นสื่อกลางสำคัญในการติดต่อและผูกพันต่อการดำรงชีวิตประจำวันของคนไทยได้รับผลกระทบ ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ทำให้ภาษาไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างน่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง สภาพการณ์เช่นนี้หากไม่เร่งรีบหาทางแก้ไขและป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ การใช้ภาษาไทยของเราก็จะยิ่งเสื่อมลง จะส่งผลเสียหายต่อเอกลักษณ์และคุณค่าของภาษาไทยเป็นทวีคูณ

 

ทำไมจึงได้กำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ

 

เพราะวันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ทรงเปิดการอภิปรายในหัวข้อ ปัญหาการใช้คำไทยทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปรายอย่างดีเยี่ยม แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทย เป็นที่ประทับใจผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว และในโอกาสต่อๆ มาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส เช่น ได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับปัญหาในการใช้ภาษาไทยของประชาชนชาวไทยในปัจจุบัน ในวโรกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการและองค์กรเอกชนเข้าเฝ้าถวายชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๓๕ นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงย้ำให้ประชาชนชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทยและพระราชทานแนวความคิดในการอนุรักษ์ภาษาไทยในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ คือ เป็นที่ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทยทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าเป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่สุดมิได้แก่วงการ

 

วัตถุประสงค์

 

.   เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใยและพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย

.   เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒

.   เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

.   เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้มีสัมฤทธิผลยิ่งขึ้น

.   เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ

 

ประโยชน์ที่ได้รับจากการมี วันภาษาไทยแห่งชาติ

 

คาดว่าจะมีผลดีสืบเนื่องหลายประการ คือ

.   การมี วันภาษาไทยแห่งชาติจะทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของ ภาษาประจำชาติของคนไทยทุกคน และร่วมมือกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้มีความถูกต้องงดงามอยู่เสมอ

.   บุคคลในวงวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในวงการศึกษา และวงการสื่อสาร ช่วยกันกวดขันดูแลให้การใช้ภาษาไทยเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม มิให้ผันแปรเปลี่ยนแปลง จนเกิดความเสียหายแก่คุณลักษณะของภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

.   ผลสืบเนื่องในระยะยาว คาดว่าปวงชนชาวไทยทั่วประเทศจะตื่นตัวและสนใจที่จะร่วมกันฟื้นฟู ทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

 

กิจกรรม

 

เชิญชวนให้สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จัดกิจกรรมเนื่องใน วันภาษาไทยแห่งชาติในวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยจัด ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการจัดนิทรรศการ, การอภิปรายทางวิชาการ, การประกวดแต่งคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง การขับเสภา การเล่านิทาน ฯลฯ,



 

Home

Advertisement


เรื่องน่าสนใจจากสมาชิกท่านอื่น
 

ไม่มีความเห็น
เกี่ยวกับเรื่อง วันภาษาไทย 29 กรกฎาคม
 
 


 
เกมส์ รวมเกมส์ เกมส์แข่งรถ เกมส์ต่อสู้ เกมส์ภาษา เกมส์วางระเบิด เกมส์แต่งตัว เกมส์ท่องเที่ยว เกมส์หมากฮอส เกมส์ผจญภัย เกมส์เต้น เกมส์รถ เกมส์ดนตรี เกมส์ขายของ เกมส์ฝึกสมอง เกมส์เด็กๆ เกมส์ปลูกผัก เกมส์การ์ด เกมส์จับผิดภาพ เกมส์ตลก เกมส์ตัดผม เกมส์ก้านกล้วย เกมส์ทําอาหาร เกมส์เลี้ยงสัตว์ เกมส์ผี เกมส์จับคู่ เกมส์กีฬา เกมส์เศรษฐี เกมส์ฝึกทักษะ เกมส์วางแผน เกมส์จีบหนุ่ม เกมส์มาริโอ เกมส์ระบายสี เกมส์จีบสาว เกมส์เบ็นเท็น เกมส์ยิง เกมส์ยาน เกมส์สร้างเมือง เกมส์มันส์ๆ เกมส์แต่งบ้าน เกมส์ความรู้

นายศุภวัฒน์ คุณานุวัฒน์
เจ้าของบล็อกนี้
Advertisement
Advertisement
เรื่องราวล่าสุด ของ
นายศุภวัฒน์ คุณานุวัฒน์..