คอร์รัปชันในระบบการศึกษา...ความท้าทายที่ต้องเดินหน้าสู้



ข่าวการทุจริตในแวดวงการศึกษา เป็นที่จับตามองอยู่หลายครั้งว่า ทำไมถึงมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ทั้งทุจริตอาหารกลางวัน นมโรงเรียน การจัดซื้อจัดจ้าง การก่อสร้าง การจัดซื้อหนังสือ ตำรา วัสดุและครุภัณฑ์ทางการศึกษา การรับนักเรียนเข้าสถานศึกษา หรือที่เรารู้จักกันว่า แป๊ะเจี๊ยะ การเพิ่มจำนวนเก้าอี้นักเรียนแล้วเรียกรับเงิน รวมถึงการทุจริตเวลาทำงาน มาไม่เต็มเวลา ทำงานสาย เลิกงานก่อน หรือออกไปดำเนินการอื่นในระหว่างการทำงาน และการทุจริตซื้อขายงานวิจัยเพื่อตำแหน่งทางวิชาการ การผูกขาดอำนาจและการสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ในสถาบันอุดมศึกษา เป็นต้น

สถานการณ์การทุจริตของระบบการศึกษาไทยในกระทรวงศึกษาธิการ จำแนกได้ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ ปัจจัยเรื่องการทุจริตเชิงนโยบาย ที่มาจากโครงการทางการเมืองไทยด้วยอิทธิพลจากนักธุรกิจการเมือง ปัจจัยเรื่องตัวบุคคล ซึ่งเป็นการทุจริตโดยตั้งใจและทุจริตที่เกิดจากความไม่รู้ ไม่ตั้งใจ และปัจจัยเรื่องโอกาสที่อาจก่อให้เกิดการทุจริต เป็นการควบคุมภายในที่บกพร่องจากการดำเนินการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

ล่าสุดนักวิชาการอย่าง รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการศึกษาและอดีตผู้อำนวยการสำนักพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานอนุกรรมการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติฯ ได้ตั้งข้อสังเกตผ่านบทความที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ โดยระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตการณ์คอร์รัปชันในวงการศึกษา ที่ทำให้คนไทยอ่อนแอลง และทำลายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสังคมไทย ดังนั้นจึงต้องหยุดยั้งปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในระบบการศึกษาด้วยการเปลี่ยนระบบการงบประมาณและระบบการเงินเพื่อการศึกษาใหม่ โดยได้เสนอแนะแนวทาง 8 ข้อเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตทางการศึกษา โดย 1 ใน 8 นั้น รศ.ดร.อนุสรณ์ ได้เสนอให้หยุดยั้งการทุจริตคอร์รัปชันในระบบการศึกษาไทยด้วยการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการงบประมาณใหม่ เป็น Demand-side Financing มากขึ้นและทำการอุดหนุนสวัสดิการการศึกษาต่าง ๆ ผ่านสถาบันครอบครัวและนักเรียน เป็นหลัก โดยเฉพาะระบบจัดซื้อจัดหาอาหารของโรงเรียนจะต้องได้อาการที่มีคุณภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กนักเรียนทุก ๆ คน ทั้งนี้ยังมองว่าการศึกษาจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืนด้วยการพัฒนาการศึกษาใน 3 มิติใหญ่นี้ไป พร้อม ๆ กัน คือ มิติด้านปริมาณ มิติด้านคุณภาพ และมิติด้านความเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้ ในบทความยังได้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาวิกฤติทางการศึกษาบางส่วน สามารถแก้ไขได้ด้วยการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณทางการศึกษาไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น และลดสายบังคับบัญชาในกระทรวงศึกษาธิการลงมาให้เป็นองค์กรแนบราบมากขึ้น เพื่อความคล่องตัวและลดขั้นตอนอันล่าช้าของระบบราชการ รวมทั้งนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อตัวนักเรียนนักศึกษาเป็นสำคัญและต้องเป็นกระบวนการที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

จากบทความนี้จะเห็นถึงช่องโหว่ของระบบการศึกษาไทยที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ ใช้อำนาจเพื่อทำการทุจริตในหลากหลายรูปแบบ จนกลายเป็นปัญหาคาราคาซังที่ประเทศไทยยังแก้ได้ไม่หมด

ในเรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการได้พยายามแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในวงการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง แต่การปรับโดยกะทันหันอาจจะไม่ได้ผลทันใจ ดังนั้น การเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้จะต้องใช้แนวทางป้องปรามอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้นำแผนปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) และแผนป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ กระทรวงศึกษาธิการ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) มาขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายสำคัญซึ่งจะส่งผลให้การทุจริตในการปฏิบัติราชการของทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการลดน้อยลง

สำหรับแผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบประจำปีงบประมาณ 2566 กระทรวงศึกษาธิการจะใช้ 2 แนวทาง ในการดำเนินงาน โดยปลูกฝังวิธีคิด ปลุกจิตสำนึก ให้วัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์ รวมถึงป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริงในหน่วยงานราชการต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการได้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายผ่านการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรม เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตร้อยละ 80 คดีทุจริตภาพรวมลดลงร้อยละ 10 และจำนวนข้อร้องเรียนเจ้าหน้าที่ลดลงร้อยละ 10 ถือเป็นการทำงานเชิงรุก เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบที่จะเห็นผลได้ในไม่ช้า

ส่วนแนวทางการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำผู้บริหารทุกภาคส่วนในทุกพื้นที่ให้ดำเนินการทุกเรื่องอย่างโปร่งใสในทุกมิติมาโดยตลอด เพราะสถานศึกษาถือเป็นต้นแบบการทำงานเรื่องการศึกษาของเยาวชนในอนาคต โดยหากเกิดกรณีทุจริตในสถานศึกษาเกิดขึ้นก็จะมีกระบวนการตรวจสอบและใช้มาตรการป้องกันอย่างถึงที่สุด ซึ่งหากมีการทุจริตเกิดขึ้นจริงก็ต้องดำเนินการทางกฎหมายทันที

ที่ผ่านมา การทุจริตของผู้บริหารในสถานศึกษามีการชี้มูลความผิดให้เห็นเยอะมาก ส่วนหนึ่งมาจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในชมรม STRONG ประจำพื้นที่ ซึ่งได้ช่วยสอดส่องเฝ้าระวังการทุจริตอย่างเกาะติดเหนียวแน่น ดังเช่น กรณีของอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าใหม่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ถูกจับกุมในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าโดยมิชอบ ซึ่งถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรงทั้งทุจริตอาหารกลางวัน การจัดซื้อจัดจ้างระบบไฟฟ้าและการก่อสร้างถนนในโรงเรียน เป็นต้น

อีกประเด็นที่มักพบได้บ่อยและเป็นข่าวหน้าหนึ่งอยู่บ่อยครั้ง นั่นคือ เรื่องของการรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ ฝากเด็กเข้าเรียนปีการศึกษา 2566 เป็นเรื่องสำคัญที่ทางสำนักงาน ป.ป.ช.จับตาดูอยู่ทุกปี และยังได้สั่งการให้ ป.ป.ช.ในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ติดตามเฝ้าระวังปัญหาการทุจริตการรับเงินแป๊ะเจี๊ยะในสถานศึกษาอย่างใกล้ชิด ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการกำชับให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดูแลการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2566 ให้เป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใส โดยต้องไม่ให้เกิดการเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะแลกที่นั่งเรียน ซึ่งหากมีการร้องเรียน ทางกระทรวงศึกษาธิการก็จะตรวจสอบเอาผิดตามระเบียบขั้นสูงสุดเช่นกัน

ด้านการดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต และนโยบาย No Gift Policy ด้วยแนวคิด กระทรวงศึกษาธิการโปร่งใส ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริต (MOE TRUST & Zero Tolerance) และเดินหน้าทำงานเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของการสร้างวัฒนธรรมสุจริตที่จะช่วยหล่อหลอมให้เด็กและเยาวชนไทยได้ตระหนักรู้และประพฤติปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจต้านทุจริตได้อย่างเต็มภาคภูมิ นับเป็นความพยายามอันกล้าแกร่งที่ทางกระทรวงศึกษาธิการมีความมุ่งมั่นในการลด ละ สภาวะการทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงการศึกษา ซึ่งคงต้องวัดผลกันอีกทีว่านโยบายและมาตรการเหล่านี้จะสามารถเสริมสร้างปลูกฝังทัศนคติต้านทุจริตได้สำเร็จเห็นผลชัดเจนหรือไม่

อย่างไรก็ตามกระทรวงศึกษาฯ ยังได้ทำงานร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ในการส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมต้านทุจริตที่เน้นความโปร่งใสผ่านหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาที่ทางสำนักงานป.ป.ช ได้พัฒนาขึ้นมา เพื่อสร้างองค์ความรู้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าการส่งเสริมและสนับสนุนให้นวัตกรรมการเรียนรู้ได้ใช้งานจริงในสถานศึกษาทุกระดับจะช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนอันทรงพลังในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เข้มแข็งได้

นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช.ยังได้มุ่งสร้างสังคมสุจริต ซึ่งจะเป็นแนวทางเพื่อป้องกันการทุจริตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการปรับพฤติกรรรม “คน” ด้วยการปลูกฝังวิธีคิดในกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนเพื่อปฏิรูปคนรุ่นใหม่ให้มีจิตสำนึกในความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อสร้างพลังร่วมในการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ ต่อไปในอนาคตและการปรับ “ระบบ” โดยการสร้างนวัตกรรมการต่อต้านการทุจริต เพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน เท่าทันพลวัตของการทุจริตผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตรวจสอบ แจ้งข้อมูล และชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งจะนำไปสู่การลดจำนวนคดีทุจริตและประพฤติมอชอบในหน่วยงานภาครัฐได้ อีกส่วนคือการปราบปรามการทุจริต ได้มุ่งเน้นการเสริมสร้างประสิทธิภาพของกระบวนการและกลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในด้านการดำเนินคดีทุจริตมีความรวดเร็ว เฉียบขาด เป็นธรรม และการพัฒนาปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการปราบปรามการทุจริตให้ได้ผลและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ยังได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาในระยะ 20 ปี ประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยใช้ดัชนีการรับรู้การทุจริตในปี 2580 อยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ไม่ต่ำกว่า 73 คะแนน

ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ใช่แค่เรื่องที่คุยกันแล้วปัญหาจะหมดไป แต่ต้องขจัดให้สิ้นซากด้วยการเสริมสร้างจิตสำนึกและค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งถือเป็นแนวทางที่มีระดับความสำเร็จสูงสุดในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในภาคการศึกษา และต้องจับตามองต่อไปว่าเป้าหมายที่วางไว้กับแผนการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ จะทำให้ภาพการทุจริตคอร์รัปชันในระบบการศึกษาไทยลดน้อยลงไปได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าไทยสามารถบริหารจัดการกับปมวิกฤตนี้ได้ หากมุ่งมั่นปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในภาคการศึกษาอย่างจริงจัง เพราะอย่างน้อยผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดก็คือ เด็กและเยาวชนไทยที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมในอนาคตท่ามกลางระบบการเรียนการสอนที่มีศักยภาพ โปร่งใส และเท่าเทียมกัน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้การศึกษาไทยหลุดพ้นวงจรทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างยั่งยืน

 

รายการอ้างอิง

  ที่มา สำนักงาน ป.ป.ช.

โพสต์เมื่อ 19 พ.ค. 2566 อ่าน 21911 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


ถอดความสำเร็จโครงการ Chevron Enjoy Science ที่ต่อเติมพื้นที่ให้สะเต็มศึกษาเป็นเรื่องสนุก พร้อมปูทางสู่อนาคตประเทศ [อ่าน 375]
คอร์รัปชันในระบบการศึกษา...ความท้าทายที่ต้องเดินหน้าสู้ [อ่าน 21911]
กระทรวงศึกษาธิการ ปลดล็อคการศึกษาไทย พลิกฟื้นวิกฤติด้วยนโยบาย "ซ่อม สร้าง ป้องกัน" [อ่าน 3212]
นัยสำคัญยุทธศาสตร์การศึกษาในพลวัตศตวรรษที่ 21 สู่การเป็นประชาคมอาเชียน อย่างยั่งยืนสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไทย [อ่าน 2870]
8 โรงเรียนนวัตกรรมโลกตามหลัก Education 4.0 : สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP.3 [อ่าน 3927]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)