ภูเขาไฟใต้น้ำปะทุ พ่นลาวา-ขี้เถ้า กลายเป็นเกาะเกิดใหม่ (มีคลิป)



เกาะแห่งใหม่ล่าสุดในท้องทะเล เพิ่งถือกำเนิดนอกชายฝั่งประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำที่พ่นลาวาและขี้เถ้าออกมาเป็นจำนวนมาก

ภูเขาไฟใต้ทะเลแปซิฟิกนอกชายฝั่งของญี่ปุ่น บริเวณหมู่เกาะโบนิน หรือในชื่อญี่ปุ่นว่าหมู่เกาะโองะซะวะระ เริ่มปะทุมาตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 2566 และพ่นทั้งขี้เถ้าและลาวา ออกมาเป็นจำนวนมาก 

องค์ประกอบของดินจำนวนมหาศาล ที่ภูเขาไฟใต้น้ำลูกนี้ปล่อยออกมา ได้ก่อตัวกลายเป็นต้นกำเนิดของเกาะแห่งใหม่ล่าสุดของโลก
เซตซึยะ นาคาดะ นักภูเขาไฟวิทยาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เจแปนไทมส์ว่า การปะทุขึ้นมาของภูเขาไฟใต้น้ำ ซึ่งก่อให้เกิดเกาะกลางทะเลแห่งใหม่นี้ เริ่มจากการพ่นแมกมาหรือหินเหลวร้อน ๆ ที่มีลักษณะข้นหนืดออกมาในแนวตั้ง และพุ่งทะลุขึ้นมาเหนือผิวน้ำ 

หลังจากนั้น การปะทุของภูเขาไฟก็ดำเนินต่อไปพร้อมกับการระเบิดออกอย่างต่อเนื่อง แมกมาที่ถูกพ่นออกมา จะตกลงสู่ทะเล กลายเป็นลาวา ซึ่งจะเข้าไปรวมตัวกับเศษชิ้นส่วนของหินภูเขาไฟ และก่อตัวตั้งยอดขึ้นมาเหนือผิวน้ำ

เมื่อมาถึงวันที่ 3 พ.ย. 2566 ภูเขาไฟใต้น้ำลูกนี้ ก็เปลี่ยนจากการพ่นลาวา มาเป็นการพ่นขี้เถ้าออกมาแทน

ขอบคุณคลิปจาก https://www.youtube.com/watch?v=j1PSsUjIAKY&t=10s

เกาะใหม่แห่งนี้ ตั้งโดดเด่นเห็นชัดได้จากเกาะอิโวจิมะ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางใต้ราว 1,200 กม. เกาะอิโวจิมะเคยเป็นสมรภูมิรบที่สำคัญระหว่างกองทัพสหรัฐและกองทัพญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันไม่มีผู้อยู่อาศัย มีเพียงกองกำลังป้องกันประเทศญี่ปุ่นประจำการอยู่ 

เกาะใหม่อยู่ห่างจากชายฝั่งราว 1 กม. วัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ได้ประมาณ 2 กม. ขณะที่การปะทุของภูเขาไฟต้นกำเนิดเกาะ ก็ยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าดูเหมือนมันจะผ่านจุดปะทุสูงสุดไปแล้ว และเริ่มสงบลง

ขอบคุณคลิปจาก https://www.youtube.com/watch?v=c9SJD5125A8

 

นาคาดะ กล่าว่า ปกติแล้ว การปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำในภูมิภาคนี้ มักจะกินระยะเวลาราว 1 เดือนขึ้นไป

ข้อมูลจากการประเมินของทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า มีภูเขาไฟใต้น้ำทั่วโลกอยู่มากกว่า 1 ล้านแห่ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว และบางส่วนก็อยู่ลึกมาก จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อมีการปะทุ 

มนุษย์เพิ่งสามารถตรวจพบการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำได้ เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง ส่วนโอกาสที่จะได้เห็นเกาะแห่งใหม่ถือกำเนิดจากการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำนั้น มีน้อยยิ่งกว่าน้อย 

ตัวอย่างเกาะที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำที่เก่าแก่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ก็คือหมู่เกาะฮาวาย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหลายล้านปีก่อน
ในปี 2558 เคยมีเกาะแห่งใหม่ถือกำเนิดในทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกจากการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำ และได้กลายเป็นแหล่งศึกษาที่สำคัญของนักธรณีวิทยา, นักภูเขาไฟวิทยา, นักชีววิทยา และนักนิเวศวิทยา

แต่ในปี 2565 เกาะแห่งนี้ก็หายไป เนื่องจากมีการปะทุรอบใหม่ของภูเขาไฟใต้น้ำ ที่กลายเป็นตัวการทำลายเกาะ
ส่วนเกาะน้องใหม่ใกล้เกาะอิโวจิมะนี้ นาคาดะ มีความเห็นว่า ถ้าหากการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ก็เป็นไปได้อย่างมาก ที่มันจะรวมตัวเข้ากับเกาะอิโวจิมะในที่สุด ซึ่งต้องเฝ้าสังเกตกันต่อไป

ที่มา : sciencealert.com

ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 

โพสต์เมื่อ 10 พ.ย. 2566 อ่าน 893 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


คู่ชิดวิทย์สร้างสรรค์ คู่ขวัญ "สงกรานต์… ดินสอพอง" [อ่าน 431]
ความหมายของรังสี กัมมันตภาพรังสี และธาตุกัมมันตรังสี [อ่าน 700]
ฝนเกิดขึ้นได้อย่างไร [อ่าน 1287]
ไขมันในร่างกาย [อ่าน 856]
ภูเขาไฟใต้น้ำปะทุ พ่นลาวา-ขี้เถ้า กลายเป็นเกาะเกิดใหม่ (มีคลิป) [อ่าน 893]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)