บทคัดย่อ
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปา เป็นรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่ช่วยให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง เข้าใจสิ่งที่เรียน พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และเกิดความใฝ่รู้ใฝ่เรียน การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมาย คือ 1) เพื่อพัฒนาแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปา เรื่อง การคูณ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 2) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปาที่พัฒนาขึ้น 3) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องการคูณ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนด้วยแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปา กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนคำเหมือดแก้วบำเพ็ญวิทยา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 จำนวน 26 คน เป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่เรียนด้วยแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปาซึ่งกลุ่มเป้าหมายได้มาโดยการสุ่มได้โดยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) (บุญชม ศรีสะอาด. 2553 : 41)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 3 ชนิด ได้แก่ (1) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปาจำนวน 19 แผน 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 3 ตัวเลือก มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อ (B) ตั้งแต่ 0.24-0.93 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ ( cc r ) เท่ากับ 0.97 (3) แบบวัดเจตคติต่อการเรียนคณิตศาสตร์ จำนวน 20 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนก (rxy) ตั้งแต่ 0.23-0.56 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ (α ) เท่ากับ 0.83 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ร้อยละ และทดสอบสมมติฐานโดยใช้ Hotellings T2
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปา เรื่องการคูณ มีประสิทธิภาพเท่ากับ 95.61 / 85.12
2. ค่าดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปา มีค่าเท่ากับ 0.7826
3. นักเรียนที่เรียนด้วยแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปา มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องการคูณ หลังเรียนเพิ่มขึ้นจากก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .5
โดยสรุป แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปา มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเหมาะสม นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องการคูณ สูงขึ้น จึงควรสนับสนุนและส่งเสริมให้ครูนำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบซิปปา ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนต่อไป