ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แบบโครงงานเป็นฐาน
เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย ณภัสนันท์ ธัญญ์ธิติภัทร์
ปีที่พิมพ์เผยแพร่ 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แบบโครงงานเป็นฐานเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) เพื่อประเมินประสิทธิผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แบบโครงงานเป็นฐานเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ 3) เพื่อขยายผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แบบโครงงานเป็นฐานเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนเทศบาล 3 (โศภนพิทยาคุณานุสรณ์) จำนวน 35 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการเรียนการสอน คู่มือการใช้รูปแบบ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหา และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติแบบไม่อิสระและแบบอิสระ และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แบบโครงงานเป็นฐานเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีชื่อว่า PROUD Model มีองค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอนและเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ กระบวนการเรียนการสอนมี 5 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นเตรียมความพร้อม (Preparation: P) 2) ขั้นวางแผน (Right Planning: R) 3) ขั้นลงมือปฏิบัติ (Operation: O) 4) ขั้นสรุปความรู้ (Ultimate Conclusion: U) และ 5) ขั้นขยายความรู้และประเมินผล (Dilation and Assessment: D) โดยที่ประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอน เท่ากับ 82.91/80.15 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
2. ประสิทธิผลของรูปแบบ พบว่า 2.1) หลังการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน (PROUD Model) นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดแก้ปัญหาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2.2) ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน (PROUD Model) พัฒนาขึ้นในช่วงระหว่างเรียน และ 2.3) ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอน (PROUD Model) โดยภาพรวมอยู่ในระดับเห็นด้วยมากที่สุด
3. ผลการขยายผล พบว่า หลังการจัดการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน (PROUD Model) นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในการคิดแก้ปัญหาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาพัฒนาขึ้นในช่วงระหว่างเรียน และความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอน (PROUD Model) โดยภาพรวมอยู่ในระดับเห็นด้วยมากที่สุด