บทคัดย่อ
การพัฒนาทักษะการเรียนภาษาอังกฤษโดยใช้สื่อผสมการ์ตูนแอนิเมชั่นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 2 บ้านสะเดา การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจข้อมูลพื้นฐานเพื่อสร้างสื่อผสมการ์ตูนแอนิเมชั่น ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 2 บ้านสะเดา 2) พัฒนาหาประสิทธิภาพพัฒนาทักษะการเรียนภาษาอังกฤษโดยใช้สื่อผสมการ์ตูน แอนิเมชั่นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 2 บ้านสะเดา ให้มีประสิทธิภาพ 3) การทดลองใช้สื่อผสมการ์ตูนแอนิเมชั่นเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 2 บ้านสะเดา 4) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน และหลังเรียนเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนภาษาอังกฤษโดยการใช้สื่อผสมการ์ตูนแอนิเมชั่น ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 2 บ้านสะเดา และ 5) เพื่อประเมินความพึงพอใจการใช้สื่อผสมการ์ตูนแอนิเมชั่นเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 2 บ้านสะเดา วิธีดำเนินการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้ดำเนินการตามกระบวนการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ได้กลุ่มตัวอย่างมาจากการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling Selection) คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนเทศบาล 2 บ้านสะเดา จำนวน 1 ห้อง นักเรียนจำนวนทั้งสิ้น 36 คน สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย สื่อผสมการ์ตูนแอนิเมชั่น แผนการจัดการเรียน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบสอบถามความพึงพอใจ เก็บข้อมูลด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสถิติ คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t-test และ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. ข้อมูลเบื้องต้นจากการจัดการเรียนรู้ระดับประถมศึกษา ประกอบด้วย
1.1 ข้อมูลทุติยภูมิ การจัดการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา มุ่งให้นักเรียนมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย มุ่งให้นักเรียนเกิดสมรรถนะ 1) ความสามารถในการสื่อสาร 2) ความสามารถในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ 3) ความสามารถในการแก้ปัญหา เป็นความสามารถในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ 4) ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิตเป็นความสามารถในการนำกระบวนการ ต่าง ๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และ 5) ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี โดยช่วงเวลาสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ของมนุษย์ คือ ช่วงวัยเด็ก เพราะสามารถพัฒนาสมองได้ถึง 80% ของผู้ใหญ่ ข้อมูลต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาจะไปกระตุ้นสมองของเด็ก ทำให้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นใยสมองและเกิดจุดเชื่อมต่อมากมาย ส่งผลให้เด็กเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ สมองของเด็กพัฒนาจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ทักษะความคล่องตัวของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาภายในช่วงเวลา 10 ปีแรก ดังนั้น ถ้าหากเด็กได้ฝึกฝนการใช้มือ การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือ จะทำให้สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมอง จุดเชื่อมต่อ และสร้างไขมันล้อมรอบเส้นใยสมองและเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้มาก ทำให้เกิดทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก
1.2 ข้อมูลปฐมภูมิ การจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษา เพื่อการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ มีความจำเป็นและสามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้กับความจริงในชีวิตประจำวันเของเด็กซึ่งต้องมีความสอดคล้องกับพัฒนาการทุก ๆ ด้านของนักเรียนประถมศึกษา รวมทั้งการเคลื่อนไหวร่างกายอันส่งผลโดยตรงต่อการจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเห็นความสำคัญในการพัฒนาทักษะการเรียนภาษาอังกฤษ โดยใช้สื่อผสมแอนิเมชั่นต้องอาศัยข้อมูลจาก ผู้มีหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้ที่มีความสำคัญในการใช้เป็นข้อมูลในการสร้างสื่อนวัตกรรมการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับหลักสูตรประถมศึกษา แผนการจัดการเรียนรู้ รวมถึงการวัดและประเมินผลที่มีความสอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และเป็นฐานความรู้เพื่อศึกษาต่อในระดับสูง การพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กเป็นขั้น ๆ ตามลำดับอายุ คือ เด็กมีความสามารถในขั้นปฏิบัติการคิดแบบรูปธรรม (Concrete Operational Stage) ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 7-11 ปี ในช่วงอายุดังกล่าวนี้เด็กมีความสามารถในการใช้เหตุผลกับสิ่งที่เห็นได้ เช่น การจัดแบ่งกลุ่ม แบ่งพวก ฯลฯ และมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ในขั้นนี้ทำให้มองเห็น ได้ว่า เด็กสามารถมีความคิดในการตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลกับสิ่งที่เห็นได้เป็นรูปธรรม สามารถคิดได้ว่าการกระทำใดบ้างจะเป็นไปได้และผลออกมาอย่างไร โดยไม่ต้องลองผิดลองถูก สามารถบอกจำนวนและมีความสามารถด้านการคำนวณเพื่อการแก้ไขปัญหาได้ เปรียบเทียบสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้ เด็กวัยนี้มีความสามารถใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะความสำคัญของวิชาภาษาต่างประเทศซึ่งในปัจจุบันสถาบันการศึกษาให้ความสำคัญ และการหาวิธีการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพเพื่อให้ได้ผู้เรียนที่มีคุณภาพ การจัดสัดส่วนเวลาของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นผู้รับความรู้ให้น้อยลง และเพิ่มเวลาของกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติจริง และสร้างความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาตามความสนใจ ความถนัดและความต้องการได้เพิ่มพูนทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะชีวิต ความมีน้ำใจ การทำงานเป็นทีม และมีความสุข ในการเรียนรู้ ในสังคมโลกศตวรรษที่ 21 ภาษาสากลที่นักเรียนทุกคนต้องเรียนรู้ คือ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลของโลกที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายและเป็นที่รู้จัก มีความจำเป็นในการนำไปใช้เพื่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะปัจจุบันการศึกษาของไทยให้ความสำคัญและเน้นย้ำการใช้ภาษาอย่างมีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพด้วยยุคที่มีเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า การทำงาน การสื่อสารด้วยภาษาสากลผ่านสื่อออนไลน์ การสื่อสารโดยตรง ต้องอาศัยความรู้ความสามารถในการนำไปใช้ซึ่งต้องมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตตั้งแต่วัยเด็กเล็ก การจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนประถมศึกษาเพื่อให้เกิดทักษะการเรียน และก่อให้เกิด การพัฒนาภาษาอังกฤษ โดยให้ความสำคัญกับสื่อที่ใช้ในการเรียนการสอนเพื่อการพัฒนา จากการศึกษาพบว่า สื่อการเรียนการสอนมีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียน อันเป็นรากฐานการเรียนรู้เพื่อการเกิดประสบการณ์ที่มาจากการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งมีความสำคัญต่อพัฒนาทักษะทางด้านภาษาที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องบรรลุวัตถุประสงค์ การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะการใช้สื่อการเรียนการสอนที่มาจากการวิจัยและพัฒนานี้สามารถสร้างได้ตรงตามวัตถุประสงค์การนำไปใช้เพื่อการพัฒนานักเรียน และสามารถที่นำไป ประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนานักเรียนในพื้นที่บริบทที่มีความแตกต่าง สื่อผสมการ์ตูนแอนิเมชั่นสามารถช่วยสร้างความเร้าใจ ดึงดูดความสนใจในการทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยภาพเคลื่อนไหว เสียง สีความสวยงามในการทำให้ผู้เรียนเกิดจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์โลดแล่นประหนึ่งว่าตัวเองเป็น ตัวละครหนึ่งในสื่อผสมการ์ตูนแอนิเมชั่น ดังนั้น ผู้สอนต้องจัดการเรียนรู้ที่มีเหมาะสมกับช่วงวัย โดยการใช้สื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพในการนำสื่อผสมการ์ตูนแอนิเมชั่น ไปใช้ และต้องใช้เวลาในการพัฒนาสื่อไปเรื่อย ๆ เพราะวันเวลาผ่านไปความทันสมัยก็ตามมาอย่างรวดเร็ว จึงต้องพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามคุณครูต้องอาศัยการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้จริงกับเด็ก ๆ ไปพร้อมกับการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนแบบสื่อผสมที่มีความหลากหลาย เพื่อนักเรียนไม่เกิดความจำเจ เบื่อหน่าย
2. ค่าประสิทธิภาพพัฒนาการใช้สื่อผสมการ์ตูนแอนิเมชั่น เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 3 รอบ มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับร้อยละ 36.00/40.00, 47.67/48.33 และ 80.27/81.17 ตามลำดับ
3. เพื่อการพัฒนาทักษะการเรียนภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 2 บ้านสะเดา มีค่าประสิทธิภาพตามเกณฑ์เท่ากับร้อยละ 85.39/90.42 ซึ่งมีค่าสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
4. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โดยการใช้สื่อผสมการ์ตูนแอนิเมชั่น หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
5. จากการพัฒนาการนำสื่อผสมการ์ตูนแอนิเมชั่น เพื่อใช้พัฒนาทักษะการเรียนภาษาอังกฤษ จนกระทั่งมีประสิทธิภาพสามารถนำไปใช้ได้จริง สื่อผสมการ์ตูนแอนิเมชั่นมีความน่าสนใจ เนื่องจากมีภาพเคลื่อนไหว มีการพูดคุย ชวนสนทนา สามารถดึงดูดนักเรียนให้เกิดความสนใจ ใส่ใจต่อการเรียนที่มีประสิทธิภาพสามารถทำให้ผู้เรียนเกิดพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านภาษาอังกฤษได้อย่างง่าย ๆ และสื่อความหมายการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน