บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง รายงานการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดแบบซิปปาโมเดล (CIPPA MODEL)
เพื่อพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2
ผู้วิจัย นางทิวาพร ทองแย้ม
ปีการศึกษา 2560
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดแบบซิปปาโมเดล (CIPPA MODEL) สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านตาเอก
2) เพื่อเปรียบเทียบความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านตาเอก ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดแบบซิปปาโมเดล (CIPPA MODEL)
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งการทดลอง (Quasi - Experimental Design) แบบกลุ่มเดียว
มีการวัดผลก่อนเรียนและหลังเรียนในรูปแบบที่เรียกว่า One Group Pre-test Post-test Design ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ เด็กชาย เด็กหญิง ที่มีอายุระหว่าง 5 - 6 ปี ที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนบ้านตาเอก อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 4 จำนวน 21 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดแบบซิปปาโมเดล (CIPPA MODEL) เพื่อพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 50 แผน
2) แบบประเมินความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 3 ชุด ชุดละ 8 ข้อ รวม 24 ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์โดยการคำนวณ ค่าร้อยละ (P) หาค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) หาค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.) และทดสอบค่าที (t - test แบบ Dependent Samples)
ผลการวิจัยพบว่า
1) ดัชนีประสิทธิผลของการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดแบบซิปปาโมเดล (CIPPA MODEL) เพื่อพัฒนาความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านตาเอก มีค่าเท่ากับ 0.7492 แสดงว่า นักเรียนมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นหรือมีความก้าวหน้าทางด้านความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 74.92
2) นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านตาเอก มีความพร้อมพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ หลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดแบบซิปปาโมเดล (CIPPA MODEL) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05