ความเป็นมาและความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรม
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนรายวิชาภาษาอังกฤษ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พบว่าผู้เรียนเกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ซึ่งมีผลกระทบโดยเฉพาะในด้านการสอนวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องใช้ทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียนอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เรียนขาดความกระตือรือร้นต่อการเรียน แสดงออกถึงความเบื่อหน่าย และขาดการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้เรียนสูญเสียทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ อีกทั้งผู้เรียนยังขาดความมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นนอกจากนี้การจัดการเรียนการสอนที่ขาดความหลากหลายและไม่สามารถดึงดูดความสนใจทำให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่าย ขาดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ส่งผลให้ไม่สามารถพัฒนาทักษะการอ่านเพื่อความเข้าใจได้อย่างเต็มที่
ผู้ศึกษาในฐานะครูผู้สอน จึงคิดหากลวิธี กระบวนการมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนวิชาภาษาอังกฤษและต้องการที่จะพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้นและมีความพึงพอใจที่ดีต่อการเรียนการสอน ตลอดจนมีความสุขในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ดังนั้นผู้ศึกษาจึงสนใจที่จะศึกษาค้นคว้าและหาแนวทางในการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษของผู้เรียน ทั้งด้านทักษะการฟัง พูด อ่านและเขียน ซึ่งรูปแบบวิธีการสอนที่ผู้ศึกษาสนใจนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนก็คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน (Activity-Based Learning) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การอ่านเพื่อความเข้าใจ (Reading Comprehension) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับโอกาสพิเศษต่างๆหรือเทศกาลที่สำคัญของเจ้าของภาษาซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาสาระที่ควรเร่งพัฒนาในรายวิชาภาษาอังกฤษ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ Activity Based Learning มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ เพราะเป็นวิธีการที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในเนื้อหา พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ สร้างความสนุกสนานในการเรียน และส่งเสริมการทำงานร่วมกันในกลุ่ม ทำให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นใจมากขึ้นและสามารถทำให้นักเรียนมีคุณภาพตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
วัตถุประสงค์ของการพัฒนานวัตกรรม
1. เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของการจัดการเรียนการสอนแบบ Activity based learning เรื่อง การอ่านเพื่อความเข้าใจ (Reading Comprehension) ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ E1/E2 เท่ากับ 80/80
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน เรื่อง การอ่านเพื่อความเข้าใจ (Reading Comprehension) โดยการจัดการเรียนการสอนแบบ Activity based learning ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
3. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนแบบ Activity based learning เรื่อง การอ่านเพื่อความเข้าใจ (Reading Comprehension)
สรุปผลการใช้นวัตกรรม
ผลการใช้นวัตกรรมสรุปได้ ดังนี้
1.ประสิทธิภาพของการจัดการเรียนการสอนแบบ Activity based learning เรื่อง การอ่านเพื่อความเข้าใจ (Reading Comprehension) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีค่าประสิทธิภาพ E1/E2 เท่ากับ 86.18/84.80 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
2.ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยการจัดการเรียนการสอนแบบ Activity based learning เรื่อง การอ่านเพื่อความเข้าใจ (Reading Comprehension) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยรวม พบว่า คะแนนก่อนเรียนมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 8.54 คะแนน คิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 42.68 คะแนนหลังเรียน มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 16.96 คะแนน คิดเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละ 84.80 หรือคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 8.43 คะแนน มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.7347 หรือคิดเป็นร้อยละความก้าวหน้าทางการเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 73.47 และเมื่อพิจารณาเป็นรายบุคคล พบว่า นักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนเพิ่มขึ้นทุกคน
3. ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนแบบ Activity based learning เรื่อง การอ่านเพื่อความเข้าใจ (Reading Comprehension) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยรวม พบว่า นักเรียน มีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย= 4.53) เมื่อพิจารณารายข้อแต่ละด้าน พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนได้พัฒนา ความรู้ ทักษะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ มากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.70)