ชื่อเรื่อง การพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านการเขียนคำตามมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระ การเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ชื่อผู้วิจัย นางน้ำอ้อย จันทพราหมณ์
ปีการศึกษา 2557
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาแบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านการเขียนคำ ตามมาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียนก่อนใช้แบบฝึกทักษะการอ่านการเขียนคำตามมาตราตัวสะกดและหลังใช้แบบฝึกทักษะการอ่านการเขียนคำตามมาตราตัวสะกด 3)เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะการอ่านการเขียนคำตามมาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านทุ่งเกราะ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต ภาคเรียน ที่ 2 ปีการศึกษา 2557 ที่ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง จำนวน 31 คนที่ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เฉพาะนักเรียนที่ผู้วิจัยเป็นครูประจำชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านการเขียนคำตามมาตราตัวสะกด ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น จำนวน 9 เล่ม ประกอบด้วย เล่มที่ 1 มาตราแม่ ก กา เล่มที่ 2 มาตราตัวสะกดแม่ กก เล่มที่ 3 มาตราตัวสะกดแม่ กง เล่มที่ 4 มาตราตัวสะกดแม่ กด เล่มที่ 5 มาตราตัวสะกดแม่ กน เล่มที่ 6 มาตราตัวสะกดแม่กบ เล่มที่ 7 มาตราตัวสะกดแม่ กม เล่มที่ 8 มาตราตัวสะกดแม่ เกยและเล่มที่ 9 มาตราตัวสะกดแม่ เกอว แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย จำนวน 30 ข้อ ข้อละ 1 คะแนน คะแนนเต็ม 30 คะแนน เวลา 1 ชั่วโมง ลักษณะเป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 3 ตัวเลือก ค่าความยากง่าย (P) มีค่าระหว่าง 0.46 -0.70 ค่าอำนาจจำแนก (r) มีค่าระหว่าง 0.26 0.60 ค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ ทั้งฉบับ เท่ากับ 0.89 แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย แบบประเมินแบบฝึกทักษะการอ่านการเขียนคำตามมาตราตัวสะกด ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.83 และ แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะการอ่านการเขียนคำตามมาตราตัวสะกด จำนวน 10 ข้อ แบบแผนการวิจัยที่ใช้ คือ One Group Pre-test Post-test Design สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล โดยหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ย โดยการทดสอบค่าที (t test dependent)
ผลการวิจัยพบว่า
1. แบบฝึกทักษะการอ่านการเขียนคำตามมาตราตัวสะกดชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพ E1/E2 เท่ากับ 93.23 /93.43ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ประสิทธิภาพ 80/80 ที่ตั้งไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียนหลังใช้แบบฝึกทักษะการอ่านการเขียนคำตามมาตราตัวสะกดสูงกว่าก่อนใช้แบบฝึกทักษะการเขียนสะกดคำ ตามมาตราตัวสะกดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะการอ่านการเขียนคำตามมาตราตัวสะกด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีคะแนนเฉลี่ย 2.73 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.41 เมื่อเทียบกับเกณฑ์การพิจารณาระดับความพึงพอใจ พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อแบบฝึกทักษะการอ่านการเขียนคำตามมาตราตัวสะกดอยู่ในระดับมาก