ชื่อเรื่อง การพัฒนาผลการเรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดควน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 2
ผู้ศึกษาค้นคว้า นางกิ่งแก้ว ศรีจันทร์
หน่วยงาน โรงเรียนวัดควน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร
ปีที่พิมพ์ 2558
บทคัดย่อ
ภาษาไทยเป็นวิชาที่มีความสำคัญและจำเป็นในการสื่อสารของมนุษย์ซึ่งการสื่อสาร ของมนุษย์จำเป็นต้องใช้ทักษะที่สำคัญหลายทักษะ ได้แก่ การฟัง การพูด การอ่านและการเขียน
แต่ในปัจจุบันทักษะการอ่านเป็นทักษะที่มักจะประสบปัญหาและทำให้ทักษะด้านอื่นๆ ได้รับผลกระทบด้วยอย่างต่อเนื่อง สาเหตุดังกล่าวทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่ายต่อการเรียนวิชาภาษาไทย ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมาย คือ (1) เพื่อสร้างหนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 (2) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของหนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยหนังสือส่งเสริมการอ่านกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่สร้างขึ้นระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน (4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยหนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดควน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 3 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเลือกกลุ่ม (Cluster Random Sampling)
เครื่องมือ ที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ได้แก่ (1) แผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระ การเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 24 แผน แผนละ 1 ชั่วโมง รวมเวลา 24 ชั่วโมง (2) หนังสือส่งเสริมการอ่าน จำนวน 8 เล่ม (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมติฐานใช้ t test (Dependent Samples)
ผลการศึกษาค้นคว้า พบว่า
1.ผลการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของหนังสือส่งเสริมการอ่านกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่า หนังสือส่งเสริมการอ่าน มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.75/89.16 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2.ผลการวิเคราะห์หาดัชนีประสิทธิผลของหนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่าหนังสือส่งเสริมการอ่าน มีดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.8571 หมายความว่า หนังสือส่งเสริมการอ่าน ทำให้นักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนเพิ่มขึ้นจากหลังเรียนรู้ ร้อยละ 85.71
3.ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนและ หลังเรียนด้วยหนังสือส่งเสริมการอ่านที่สร้างขึ้น พบว่านักเรียนที่เรียนด้วยหนังสือส่งเสริมการอ่าน มีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ย หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4.ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยหนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่านักเรียนมีความพึงพอใจต่อหนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
โดยสรุป หนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพเหมาะสม สามารถนำไปสื่อ การเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยสูงขึ้นควรสนับสนุนให้ครูนำไปใช้ในการเรียนการสอนต่อไป