ชื่อเรื่อง : การพัฒนาบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านนาแค
อำเภอศรีเมืองใหม่ สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 3
ชื่อผู้วิจัย : ว่าที่ร้อยตรี อาทิตย์ ศรีแสงเมือง ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาแค
วิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการ โรงเรียนบ้านนาแค อำเภอศรีเมืองใหม่
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 3
ปีที่ทำการวิจัย : 2559
บทคัดย่อ
คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นบุคคลที่อยู่ในท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับผู้ปกครองของนักเรียน รู้สภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นเป็นอย่างดี สามารถปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับสถานศึกษาในการกำหนดแนวทางที่จะทำให้เด็กทุกคนได้เข้าเรียนอย่างทั่วถึง และช่วยพัฒนาการจัดการเรียนได้อย่างมีคุณภาพ การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านนาแค อำเภอศรีเมืองใหม่ สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 โดยดำเนินการวิจัยในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จากกลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 32 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการตามแนวคิดของ Kemmis และ McTaggart เป็นกระบวนการในการพัฒนา 2 วงรอบ ซึ่งแต่ละวงรอบประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นการวางแผน ขั้นการปฏิบัติตามแผน ขั้นการสังเกต และขั้นการสะท้อนผลการปฏิบัติ มีกลุ่มผู้ร่วมวิจัยจำนวน 32 คน ประกอบด้วย ครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 4 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน นักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 20 คน และผู้วิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ คือ แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง แบบสังเกตพฤติกรรม และแบบบันทึกการประชุม ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้วิธีพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัย พบว่า
1) สภาพปัญหาก่อนดำเนินการพัฒนา พบว่าคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนบ้านนาแค ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทที่ได้รับมอบหมายให้เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะขาดความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตน โดยเฉพาะด้านเกี่ยวกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน ตลอดจนประสานงานกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สถานศึกษาเป็นแหล่งวิทยาการของชุมชน และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน
2) เมื่อได้รับการพัฒนาโดยใช้กลยุทธ์การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) โดยใช้กระบวนการทำงานแบบ PAOR ตามแนวคิดของ Kemmis และ McTaggart ประกอบด้วย ขั้นการวางแผน ขั้นการปฏิบัติตามแผน ขั้นการสังเกต และขั้นการสะท้อนผลการปฏิบัติ พบว่า คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านนาแค มีความรู้ ความเข้าใจและเกิดความตระหนักในบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านนาแคเพิ่มมากขึ้น ในด้านการกำหนดนโยบาย เพื่อการศึกษา การจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี และการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษานั้น เมื่อมีการดำเนินการนิเทศ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านนาแค มีการพัฒนาบทบาทหน้าที่ของตนดีขึ้น
ผลการพัฒนาบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านนาแค อำเภอศรีเมืองใหม่ สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 ก่อให้เกิดแนวคิดเพื่อที่จะรวมพลังสร้างสรรค์ การอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ และพัฒนาบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น