ชื่อผลงานวิชาการ การประเมินโครงการส่งเสริมพัฒนาการผู้เรียนระดับปฐมวัย โรงเรียนอนุบาลเทศบาล 3 (องุ่นอุปถัมภ์) สังกัดเทศบาลเมืองบ้านบึง จังหวัดชลบุรี
ผู้วิจัย ว่าที่เรือตรีศุภวัฒน์ เทียมศรีรัชนีกร
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนอนุบาลเทศบาล 3 (องุ่นอุปถัมภ์) สังกัดเทศบาลเมืองบ้านบึง จังหวัดชลบุรี
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการส่งเสริมพัฒนาการผู้เรียนระดับปฐมวัย โรงเรียนอนุบาลเทศบาล 3 (องุ่นอุปถัมภ์) สังกัดเทศบาลเมืองบ้านบึง จังหวัดชลบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินสภาพแวดล้อม เกี่ยวกับความเหมาะสม ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ 2) ประเมินปัจจัยป้อน เกี่ยวกับความเหมาะสม ความพร้อมของงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ บุคลากร และวิธีดำเนินการตามโครงการ 3) ประเมินกระบวนการ เกี่ยวกับความเหมาะสมของการดำเนินการตามโครงการที่ปฏิบัติจริง 4) ประเมินผลผลิต เกี่ยวกับผลการดำเนินโครงการตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์โมเดล (CIPP Model) ตามแนวคิดของ สตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam, 1983, pp. 128-150) ประชากร ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน ครูผู้รับผิดชอบโครงการ จำนวน 5 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน ผู้ปกครอง จำนวน 128 คน และนักเรียน จำนวน 128 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 271 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) จำนวน 3 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการประเมินโครงการ พบว่า
1. ด้านสภาพแวดล้อม ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้รับผิดชอบโครงการ และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โดยรวมมีความเหมาะสม สอดคล้องอยู่ในระดับมาก และในภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ เรียงลำดับคะแนนจากคะแนนเฉลี่ยมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ วัตถุประสงค์ของโครงการมีความชัดเจนและนำไปสู่การปฏิบัติได้เป้าหมายของโครงการก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน และการจัดบรรยากาศในการดำเนินงานเหมาะสม สอดคล้องและเอื้อต่อการดำเนินโครงการ
2. ด้านปัจจัยป้อน ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้รับผิดชอบโครงการและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โดยรวมมีความเหมาะสม สอดคล้องอยู่ในระดับมากและในภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ เรียงลำดับคะแนนจากคะแนนเฉลี่ยมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ โรงเรียนจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง บุคลากรมีความพร้อมและเหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย และบุคลากรในโรงเรียนให้ความร่วมมือปฏิบัติงานในการดำเนินโครงการเป็นอย่างดี
3. ด้านกระบวนการ ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้รับผิดชอบโครงการ และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โดยรวมมีความเหมาะสม สอดคล้องอยู่ในระดับมาก และในภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ เรียงลำดับคะแนนจากคะแนนเฉลี่ยมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ แผนปฏิบัติการโครงการส่งเสริมพัฒนาการผู้เรียนมีความชัดเจน และมีการจัดกิจกรรมครบทุกด้านตามแผนปฏิบัติการที่วางไว้ การดำเนินงานเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด และกำหนดหน้าที่ผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานตามโครงการชัดเจน
4. ด้านผลผลิต ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้รับผิดชอบโครงการ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครอง พบว่า โดยรวมมีความเหมาะสม สอดคล้อง
อยู่ในระดับมาก และในภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ เรียงลำดับคะแนนจากคะแนนเฉลี่ยมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทักษะตามพัฒนาการการเรียนรู้ทั้ง 4 ด้าน จากการเข้าร่วมโครงการ โรงเรียนส่งเสริมให้ผู้เรียนร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ และโครงการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และประสบการณ์ให้กับผู้เรียน
การประเมินด้านผลผลิตตามความคิดเห็นของผู้เรียน จากการสังเกตพฤติกรรมของครูผู้รับผิดชอบโครงการ พบว่า โดยรวมมีความเหมาะสม สอดคล้องอยู่ในระดับมาก และในภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ เรียงลำดับคะแนนจากคะแนนเฉลี่ยมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ ผู้เรียนมีความพร้อมตามพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน เพื่อจะเลื่อนไปศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษา ผู้เรียนชอบเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโครงการ และผู้เรียนสามารถนำความรู้หรือประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้