รายงานการพัฒนาแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการบวก การลบ และการบวกลบระคน
ครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการบวก การลบ และการบวกลบระคน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพ 80/80 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ก่อนและหลังได้รับการฝึกโดยใช้แบบฝึกทักษะ และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการบวก การลบ และการบวกลบระคน กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการพัฒนาในครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/2 โรงเรียนหนองสำโรงวิทยา ตำบลหมูม่น อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานีภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 35 คน เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนา ได้แก่ แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการบวก การลบ และการบวกลบระคน จำนวน 12 ชุด แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นแบบทดสอบแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ (Multiple Choice) 4 ตัวเลือก จำนวน 1 ชุด มี 35 ข้อ และแบบประเมินความพึงพอใจต่อแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการบวก การลบ และการบวกลบระคน เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 10 ข้อ สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าประสิทธิภาพ E1 / E2 ค่าเฉลี่ย (X-bar) ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และสถิติการทดสอบค่าที (t-test for dependent sample)
ผลการศึกษาสรุปได้ ดังนี้
1. แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการบวก การลบ และการบวกลบระคน กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพเท่ากับ 89.43/83.92 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ คือ 80/80 แสดงว่าแบบฝึกทักษะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. จากการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการบวก การลบ และการบวกลบระคน กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งแสดงว่านักเรียนเกิดการเรียนรู้ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้น
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการบวก การลบ และการบวกลบระคน กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.69 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.51