การศึกษาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการสอนวิทยาศาสตร์โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2) เพื่อวิจัยผลการใช้รูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้นดังนี้ 2.1) เพื่อเปรียบเทียบทักษะกระบวนการคิดแก้ปัญหาก่อนเรียนและหลังเรียนด้วย รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2.2) เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมทางการเรียนของนักเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบ การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2.3) ศึกษาพฤติกรรมทางการเรียนของนักเรียนระหว่างเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 2.4) เพื่อศึกษาเจตคติ ต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ที่เรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยมี 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 พัฒนารูปแบบการสอนวิทยาศาสตร์โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยการใช้วิจัยเชิง คุณภาพ อาศัยข้อมูลพื้นฐานจากแหล่งเรียนรู้ โดยการสังเกต สัมภาษณ์และสนทนากลุ่มร่วมกับครูและนักเรียน ที่มีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ( Problem Based Learning ) นำข้อมูลมากำหนดโครงสร้าง องค์ประกอบรูปแบบการจัดการเรียนการสอน และสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ ขั้นตอนที่ 2 ทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ โดยการนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้มาทดลองใช้จริงกับกลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองตาโผ่นมิตรภาพที่ 5 จำนวน 30 คน ซึ่งได้มาจากการเลือก แบบเจาะจง (Purposive Sampling ) เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ 2) แบบทดสอบวัดทักษะกระบวนการคิดแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ 3)แบบประเมินพฤติกรรมทางการเรียน และ 4) แบบวัดเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ การวิเคราะห์ข้อมูลแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ และส่วนที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูลจากการนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ไปทดลองสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบสมมติฐานโดยใช้ t-test dependent Samples
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย หลักการ จุดมุ่งหมาย เนื้อหา สาระ กระบวนการจัดการเรียนรู้และการวัดและประเมินผล เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามกรอบแนวคิดของ Joyce และ Weil ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ1) ลำดับขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ (Syntax) ซึ่งประกอบไปด้วย ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นขั้นตอนนำเข้าสู่บทเรียนเป็นขั้นกระตุ้นให้นักเรียนเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ เพื่อให้นักเรียนมีความพร้อมต่อการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ ขั้นจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการคิดแก้ปัญหา ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนคือ ขั้นกำหนดปัญหา ขั้นทำความเข้าใจกับปัญหา/ตั้งสมมติฐาน ขั้นดำเนินการค้นคว้า ขั้นสังเคราะห์ความรู้ขั้นสรุปและประเมินหาคำตอบ และขั้นนำเสนอและประเมินผลงาน 2) หลักการของปฏิสัมพันธ์ (Social System) ครูผู้สอนจะทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะ แนะนำกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็นเกิด กระบวนการคิดหาคำตอบ นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วม เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง 3) หลักการของการตอบสนอง (Principles of Reaction) ครูจัดกิจกรรมที่หลากหลายให้ท้าทาย มีสื่อประกอบที่เร้าใจ กระตุ้นให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันภายในกลุ่ม เพื่อการค้นหาคำตอบ 4) ระบบสนับสนุนการเรียนรู้ (Support System) ครูจัดบรรยากาศของการเรียนรู้รอบๆ ตัวนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีความรู้สึกอยากเรียนรู้ หาคำตอบ
2. รูปแบบการจัดการเรียนการรู้และแผนการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาตามรูปแบบการจัด การเรียนรู้ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
3. นักเรียนที่เรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้มีคะแนนเฉลี่ยทักษะกระบวนการคิด แก้ปัญหาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05
4. นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้มีระดับความคิดเห็นต่อพฤติกรรมทาง การเรียนทั้ง 3 ด้านของตนเองหลังเรียนเป็นพฤติกรรมที่ปฏิบัติบ่อยขึ้น ซึ่งก่อนเรียนเป็นพฤติกรรมที่ปฏิบัติน้อย
5. นักเรียนที่เรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้มีพฤติกรรมทางการเรียนในระหว่างเรียนดีขึ้น สังเกตจากความสนใจ ความกระตือรือร้นในการเรียน นักเรียนได้ใช้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มศักยภาพ มีโอกาสแสดงความคิดเห็น มีอิสระในการตัดสินใจ ในการตอบคำถามและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง จากการจดบันทึกสภาพการจัดการเรียนรู้ของครู พบว่า นักเรียนสามารถค้นคว้าหาคำตอบตามกระบวนการจัดการเรียนรู้ และสร้างองค์ความรู้ต่างๆได้ด้วยตนเอง โดยครูมีหน้าที่กระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้ นักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ตามศักยภาพ สามารถวัดและประเมินผลนักเรียนตามสภาพจริง
6. นักเรียนที่เรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้มีระดับความคิดเห็นของเจตคติต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ อยู่ในระดับเห็นด้วย