บทคัดย่อ
วิจัย รายงานการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3
โดยใช้แผนการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดแบบสืบเสาะหาความรู้
ผู้วิจัย นางน้ำอ้อย หาสุข
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
ปีการศึกษา 2560
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1) เพื่อเปรียบเทียบทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดแบบสืบเสาะหาความรู้
2) เพื่อศึกษาค่าดัชนีประสิทธิผลของการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดแบบสืบเสาะหาความรู้ เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (Experiment Research) ที่มีกลุ่มทดลองกลุ่มเดียวและมีการทดสอบก่อนและหลังทดลอง One - Group Pretest - Posttest Design
กลุ่มเป้าหมายของการวิจัยครั้งนี้ คือ เด็กหญิง - ชาย อายุระหว่าง 4 5 ปี ที่กำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านภูดินหนองตะครอง ตำบลบ้านแร่ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 26 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่
1) แผนการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดแบบ สืบเสาะหาความรู้ เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ชั้นอนุบาลปีที่ 3
2) ชุดกิจกรรมตาม แนวคิดแบบสืบเสาะหาความรู้ เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ชั้นอนุบาลปีที่ 3
3) แบบประเมินทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 20 ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูล โดยการคำนวณค่าร้อยละ (P) หาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I) และการทดสอบค่าที (t - test)
ผลการวิจัยพบว่า
1) เด็กชั้นอนุบาลปี 3 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดแบบสืบเสาะหาความรู้ มีทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ หลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2) ค่าดัชนีประสิทธิผลของการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดแบบสืบเสาะหาความรู้ เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีค่าดัชนีประสิทธิผล เท่ากับ 0.7636 หมายความว่า เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีความก้าวหน้าในการเรียน คิดเป็นร้อยละ 76.36