ชื่อเรื่อง ผลการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ด้วยเทคนิค
Team-Pair-Solo สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 2
ชื่อผู้วิจัย นางสาวอรอนงค์ วงษ์ด้วง
ปีที่วิจัย 2561
บทคัดย่อ
รายงานผลการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ด้วยเทคนิค Team-Pair-Solo สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 2 มีวัตถุประสงค์การวิจัย คือ 1) เพื่อสร้างคู่มือการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ด้วยเทคนิค Team-Pair-Solo สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบทักษะทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ชั้นปีที่ 2 ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ด้วยคู่มือการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ด้วยเทคนิค Team-Pair-Solo สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 2 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชาย - หญิงที่มีอายุระหว่าง 4-5 ปี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับปฐมวัย ชั้นปีที่ 2 ห้อง 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาลวัดพรหมจริยาวาส สังกัดเทศบาลนครนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 29 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) คู่มือการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์โดยใช้เทคนิค Team-Pair-Solo สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 2 3) แบบประเมินพัฒนาการทักษะทางคณิตศาสตร์ จำนวน 25 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบค่า t-test ผลการวิจัย พบว่า
1. คู่มือการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ด้วยเทคนิค Team-Pair-Solo สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 2 ที่สร้างขึ้นโดยภาพรวมมีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่ตั้งไว้ โดยมีค่าเท่ากับ 81.40 / 86.21 เมื่อพิจารณาในแต่ละเล่ม พบว่าทุกเล่มมีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีประสิทธิภาพของกระบวนการ (E1) อยู่ระหว่าง 81.15 81.72 และประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (E2) มีค่าอยู่ระหว่าง 84.83 87.59
2. การเปรียบเทียบทักษะทางคณิตศาสตร์ก่อนและหลังการใช้คู่มือการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ด้วยเทคนิค Team-Pair-Solo สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 2 พบว่า พัฒนาการก่อนการจัดประสบการณ์และหลังการจัดประสบการณ์ด้วยคู่มือการจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ด้วยเทคนิค Team-Pair-Solo สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 2 มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 12.90 และ 21.55 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนระหว่างคะแนนก่อนการจัดประสบการณ์และหลังการจัดประสบการณ์จะเห็นได้ว่าคะแนนหลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05