เรื่อง : รายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านฟักทอง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ชื่อผู้ประเมิน : ว่าที่ร้อยตรีสนาน คงอ้าย
ปีที่ทำการประเมิน : 2562
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
รายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านฟักทอง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ประเมินโครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านฟักทอง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนเริ่มโครงการด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ระหว่างดำเนินโครงการด้านกระบวนการและหลังสิ้นสุดโครงการด้านผลผลิต 2) เพื่อศึกษาความพึงพอใจและผลกระทบหลังดำเนินโครงการ ประชากรที่ใช้ในการประเมิน ประกอบด้วย ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ศิษย์เก่า ผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียนโรงเรียนบ้านฟักทอง จำนวน 125 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ 1) แบบประเมินโครงการตามแบบจำลองซิปป์ (CIPP Model) 2) แบบประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน 3) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน 4) แบบประเมินพฤติกรรมของนักเรียนจากครูผู้สอน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การแจกแจงความถี่ และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการประเมินพบว่า
ผลการดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านฟักทอง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน สรุปได้ดังนี้
1. การประเมินโครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านฟักทอง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีดังนี้
1.1 การประเมินก่อนเริ่มโครงการ พบว่า ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านฟักทอง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยรวมมีความสอดคล้อง/ความเหมาะสมในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยปัญหาที่พบ คือ บุคลากรในโรงเรียนยังมีส่วนร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการค่อนข้างน้อย เนื่องจากบุคลากรครูมีน้อยภาระงานค่อนข้างมาก ทำให้งานบรรลุผลค่อนข้างช้า ให้ข้อเสนอแนะ ควรมีการประชุมคณะทำงานอย่างต่อเนื่องและกระจายงานให้ชุมชน ผู้ปกครองมีส่วนร่วมรับผิดชอบร่วมกับโรงเรียน
ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าโครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านฟักทอง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยรวมมีความสอดคล้อง/ความเหมาะสมในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินโดยปัญหาที่ พบคือ การประสานงานเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณและวิทยากรของโรงเรียนกับหน่วยงานอื่นยังมีค่อนข้างน้อย อีกทั้งโครงสร้างการทำงานของบุคลากรยังไม่ชัดเจน ให้ข้อเสนอแนะ ควรมีการประสานงานขอความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในการสนับสนุนด้านงบประมาณและวิทยากรมาช่วยให้ความรู้แก่นักเรียน พร้อมทั้งควรจัดวัสดุ อุปกรณ์ให้หลากหลายและเพียงพอ พร้อมทั้งควรมีการจัดทำแผนผังโครงสร้างการทำงานของบุคลากรตามโครงการให้ชัดเจนเหมาะสมต่อการดำเนินงาน
1.2 การประเมินระหว่างดำเนินโครงการ พบว่า ผลการประเมินด้านกระบวนการ โครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านฟักทอง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยรวมมีความสอดคล้อง/ความเหมาะสมในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยปัญหาที่พบ คือ ระยะเวลาดำเนินการในโครงการค่อนข้างน้อย ทั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการให้เวลากับการดำเนินการของโครงการค่อนข้างน้อย ให้ข้อเสนอแนะควรกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในโครงการให้มากกว่าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ให้คณะกรรมการดำเนินโครงการบางคนเสียสละเวลามาร่วมการดำเนินการของโครงการให้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม และควรเน้นกิจกรรมที่สำคัญมาเป็นกิจกรรมแรกในการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้กับผู้เรียน
1.3 การประเมินหลังสิ้นสุดโครงการ พบว่า ผลการประเมินด้านผลผลิต ของโครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านฟักทอง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยรวมมีความสอดคล้อง/ความเหมาะสมในระดับมากที่สุด ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยปัญหาที่พบ คือ นักเรียนไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ครบทุกกิจกรรม อีกทั้งนักเรียนบางคนโดยเฉพาะนักเรียนในชั้นอนุบาล และชั้น ป.1 ยังมีความรู้และความเข้าในหลักคุณธรรม จริยธรรม และกิจกรรมตามโครงการค่อนข้างน้อยมาก ให้ข้อเสนอแนะ ควรมีการจัดกิจกรรมตามโครงการอย่างต่อเนื่องในปีการศึกษาต่อไป และควรมีการประเมินผลนักเรียนก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการ อีกทั้งยังควรให้ครูผู้สอนหรือวิทยากร ให้ความรู้หลักง่ายๆ หรือหลักในการประยุกต์ระหว่างหลักในการใช้คุณธรรม จริยธรรม ในชีวิตประจำวัน ก่อนการดำเนินโครงการ
2. ความพึงพอใจและผลกระทบหลังดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านฟักทอง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีดังนี้
2.1 ความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนต่อโครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านฟักทอง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยรวมมีความพึงพอใจในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน ให้ข้อเสนอแนะโรงเรียนควรจัดงบประมาณสำหรับปรับปรุงสถานที่ของโรงเรียน ห้องเรียนห้องประกอบบางจุด รวมทั้งวัสดุ สื่ออุปกรณ์ และควรมีการประชุมชี้แจง ถึงความประพฤติของนักเรียนเป็นระยะตลอดทั้งปีการศึกษา เพื่อให้ผู้ปกครองได้รับรู้พฤติกรรมของนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ สามารถปรับปรุงพฤติกรรมของนักเรียนได้
2.2 ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อโครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านฟักทอง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยรวมมีความพึงพอใจในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน
2.3 ผลกระทบของโครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านฟักทอง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่า
หลังจากนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม มีพฤติกรรมที่แสดงออกเหมาะสม ผ่านเกณฑ์การประเมินร้อยละ 80 โดยมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เช่น นักเรียนมีมารยาท และรู้จักธรรมเนียมการปฏิบัติตัวตามประเพณี และศาสนาที่ตนเองนับถือ นักเรียนส่วนใหญ่มีความรับผิดชอบ รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง บทบาทการอยู่ร่วมกันทั้งในห้องเรียน โรงเรียนและชุมชน เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นศิษย์ที่ดีของคุณครู อีกทั้งมีระเบียบ วินัยในการปฏิบัติตามกฎ ข้อตกลงของโรงเรียน ข้อตกลงของหมู่บ้าน รู้จักอดออม ประหยัดและรู้คุณค่าของสิ่งของ มีการใช้สมุดอย่างประหยัดรวมทั้งนักเรียนบางคนยังมีเงินฝากเพื่อใช้เป็นทุนการศึกษา
หลังจากนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม มีพฤติกรรมที่แสดงออก คือ ได้ทำประโยชน์ต่อบ้าน วัด โรงเรียน โดยจากการสังเกตและสอบถาม นักเรียนได้ช่วยบำเพ็ญประโยชน์โดยการทำความสะอาด ปลูกต้นไม้ เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ มีจิตอาสา ให้กับวัด โรงเรียน ปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชน คริสต์ศาสนิกชนในการนำข้อปฏิบัติของศาสนามาประยุกต์ใช้ เช่น การทำบุญตักบาตร การสวดมนต์ไหว้พระ การระลึกถึงพระเจ้า บุญคุณของบิดามารดา รักษาวัฒนธรรม ประเพณี เป็นต้น อีกทั้งนักเรียนมีพฤติกรรมในการเป็นลูกที่ดี ช่วยงานบ้าน งานไร่นา ให้กับพ่อแม่ และมีการแสดงออกถึงการรักในชุมชน เช่น การไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำ การถ่ายอุจจาระในห้องส้วมไม่ถ่ายเรี่ยราด การประหยัดในการใช้น้ำและไม่ทำลายของส่วนรวม และให้ข้อเสนอแนะและแนวทางหรือวิธีแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียนว่า บ้านวัดโรงเรียน และชุมชน ควรส่งเสริมและปลูกฝังเด็กนักเรียนโดยเอาใจใส่ดูแลให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดมีความสัมพันธ์ที่ดีให้คำแนะนำและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนพร้อมทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีสร้างจิตสำนึกให้แก่เด็กเยาวชนและประชาชนเห็นถึงความสำคัญของวัดและเข้าร่วมกิจกรรมมาใช้ประโยชน์จากวัดและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และวัดควรพัฒนาหลักสูตรหรือเนื้อหาสาระที่ใช้ในการส่งเสริมและปลูกฝังการบริหารจัดการตามแนวทางคุณธรรมให้สมบูรณ์ ทันสมัย นำไปประยุกต์ง่าย และเข้าใจได้ง่าย พร้อมกับมีการประเมินผลหลักสูตรหรือเนื้อหาสาระ อีกทั้งผู้บริหารควรสนับสนุนให้ครูผู้สอนได้พัฒนาตนเอง ให้มีการเรียน การสอนวิชาที่เกี่ยวกับมนุษยธรรม จัดงบประมาณสนับสนุนให้มีการเข้าค่ายเพื่อเรียนรู้แนวทางการใช้หลักคุณธรรมทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ และชุมชนควรสร้างชุมชนคุณธรรมหรือส่งเสริมและปลูกฝังคุณธรรม โดยเน้นให้เกิดการเรียนรู้และสามารถปฏิบัติได้จริงผ่านกิจกรรมที่ทำร่วมกัน
สิ่งที่ได้หลังการดำเนินการโดย จากการจัดกิจกรรมตามโครงการพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน ส่งผลให้โรงเรียนได้รับรางวัล
- รางวัลชนะเลิศอันดับ 3 ระดับจังหวัด ประเภทสถานศึกษาขนาดเล็ก โครงการสวดธัมมจักกัปปวัฒนสูตร ชิงทุนการศึกษา ครั้งที่ 1ปีการศึกษา 2560
- โรงเรียนแกนนำตามรางวัลสถานศึกษาต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรม ระดับตำบลขององค์การบริหารส่วนตำบลขุนแม่ลาน้อย
- นักเรียนได้รับรางวัล รองชนะเลิศ อันดับ 1 ประเภททีมหญิงล้วน ระดับประถมศึกษา การประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัย ทำนองสรภัญญะ ประจำปี 2561 ประเภททีม 5คน ของ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
1. ผู้บริหารและครูควรจัดกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมแก่นักเรียนอย่างต่อเนื่อง และควรจัดกิจกรรมกระตุ้นเสริมแรงเพื่อให้นักเรียนมีกำลังใจในการทำกิจกรรม อย่างต่อเนื่องและเกิดเป็นพฤติกรรมที่คงทนถาวร
2. ควรนำผลการประเมินโครงการที่ได้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจ ปรับปรุง แก้ไข ด้านต่าง ๆ ที่ค้นพบ โดยส่งเสริมกิจกรรมที่ทำได้ดีให้ดียิ่งขึ้นไป และปรับปรุงกิจกรรมที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับต่ำ
3. ควรมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมตามโครงการให้มีความพอเหมาะกับระยะเวลาดำเนินการตามโครงการเนื่องจากในแต่ละปีการศึกษามีกิจกรรมที่นักเรียนต้องร่วมและปฏิบัติจำนวนหลายกิจกรรม
4. ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างทักษะชีวิตของนักเรียนตามความเหมาะสม โดยเริ่มต้นจากที่บ้านและมีการประสานความร่วมมือกับโรงเรียน
5. ควรมีการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักเรียน ผู้ปกครองและบุคคลโดยทั่วไป
6. ควรนำผลจากข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความร่วมมือและการดำเนินการระหว่าง บ้าน วัด ชุมชน และโรงเรียนของครูผู้สอน มาร่วมพิจารณาเพื่อดำเนินการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนต่อไป
7. ควรนำผลการประเมินโครงการเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาหรือหน่วยงานอื่น ๆ และเผยแพร่อย่างกว้างขวาง
ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาครั้งต่อไป
1. ควรมีการเปรียบเทียบรูปแบบของการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของสถานศึกษาอื่น ๆในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอนเขต 2
2. ควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อติดตามผลการนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันของนักเรียน
3. ควรนำวิธีการประเมิน แบบซิปป์ ไปใช้ในการประเมินโครงการอื่นๆ ของโรงเรียน
4. ควรมีการศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนตามบริบทที่แตกต่างกัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนาการดำเนินงานตามโครงการต่อไป