ชื่อเรื่อง รายงานโครงการพัฒนาระบบการบริหารงานวิชาการโดยการขับเคลื่อนตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี
ผู้รายงาน สิริมา งามศุภกร
หน่วยงาน โรงเรียนเทศบาล ๕
ปีที่ทำวิจัย 2564
บทคัดย่อ
การรายงานโครงการพัฒนาระบบการบริหารงานวิชาการโดยการขับเคลื่อนตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) ประเมินบริบทของโครงการพัฒนาระบบการบริหารงานวิชาการโดยการขับเคลื่อนตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของหลักสูตร หลักการ เป้าหมายและการเตรียมการกับสภาพปัจจุบัน 2) ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการเกี่ยวกับความสอดคล้องเหมาะสมของงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ บุคลากร และวิธีดำเนินงานตามโครงการพัฒนาระบบการบริหารงานวิชาการโดยการขับเคลื่อนตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนคร สุราษฎร์ธานี 3) ประเมินกระบวนการของโครงการพัฒนาระบบการบริหารงานวิชาการโดยการขับเคลื่อนตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานีเกี่ยวกับการดำเนินงานตามโครงการ การนิเทศติดตามกำกับที่ปฏิบัติจริง และ 4) ประเมินผลของโครงการพัฒนาระบบการบริหารงานวิชาการโดยการขับเคลื่อนตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี โดยกลุ่มตัวอย่างผู้ให้ข้อมูล ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในปีการศึกษา 2563 โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) ได้แก่ 1) กลุ่มผู้บริหารสถานศึกษาของโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระ 2) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี 3) คณะกรรมการดำเนินการดำเนินโครงการ สถานศึกษาพอเพียงท้องถิ่น (Local Sufficiency School: LSS) ของโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี 4) ครูผู้สอน ในโรงเรียนโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหัวหน้าและผู้รับผิดชอบโครงการในฝ่ายบริหารงานวิชาการบูรณาการกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 146 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการครั้งนี้เป็นแบบสอบถามเป็นข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List) คำถามปลายเปิด และแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) โดยวิธีดำเนินการวิจัยมี 4 ขั้นตอน คือ 1) การประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) 2) การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) 3) การประเมินด้านปัจจัยกระบวนการ (Process Evaluation) และ 4) การประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วยค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการวิเคราะห์ด้านบริบทของโครงการพัฒนาระบบการบริหารงานวิชาการโดยการขับเคลื่อนตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี
1.1 สถานภาพของคณะผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และหัวหน้าโครงการ 9 โครงการ เพื่อการประเมินโครงการพัฒนาระบบการบริหารงานวิชาการโดยการขับเคลื่อนตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี พบว่า เป็นเพศชายมากที่สุด จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 43.75 และเพศหญิง จำนวน 18 คน คิดเป็นร้อยละ 56.25 ระดับการศึกษาจบระดับปริญญาตรี มากที่สุด จำนวน 21 คน คิดเป็นร้อยละ 65.63 รองลงมาคือ จบระดับปริญญาโท จำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 34.38 ระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่บริหารในสถานศึกษา 5-10 ปี สูงสุด จำนวน 17 คน คิดเป็นร้อยละ 53.13 รองลงมาคือ มากกว่า 15 ปี จำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 31.25 และลำดับสุดท้าย คือ 11-15 ปี จำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 15.63
1.2 ความเข้าใจพื้นฐานด้านนโยบายของสถานศึกษาเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของคณะผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และหัวหน้าโครงการ 9 โครงการ เพื่อการประเมินโครงการพัฒนาระบบการบริหารงานวิชาการโดยการขับเคลื่อนตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี พบว่า ด้านคำถามเกี่ยวกับนโยบายการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มตัวอย่างคิดเห็นว่ามีการระบุเป็นนโยบายของโรงเรียนอย่างชัดเจนจริงจังรวมถึงมีคณะกรรมการติดตามผลการดำเนินงาน และมีการตรวจสอบปรับปรุงแก้ไขขณะดำเนินการอย่างสม่ำเสมอมากที่สุด จำนวน 23 คน คิดเป็นร้อยละ 71.88 ด้านคำถามเกี่ยวกับสาเหตุใดที่ทำให้นโยบายการนำหลักคิดของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในโรงเรียนไม่ประสบความสำเร็จหรือยังไม่ก้าวสู่สถานศึกษาพอเพียงของโรงเรียน กลุ่มตัวอย่างคิดเห็นว่า ผู้บริหาร/คณะครูผู้สอนมีภาระงานมากอาจทำให้เป็นการเพิ่มภาระจากเดิม มากที่สุด จำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 62.50 และด้านคำถามเกี่ยวกับบุคลากรรับผิดชอบการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่างคิดเห็นว่า มีการแต่งตั้งคณะกรรมการทำงานและระบุผู้รับผิดชอบชัดเจน มากที่สุด จำนวน 17 คน คิดเป็นร้อยละ 53.13
1.3 ความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการ วัตถุประสงค์ เป้าหมายของโครงการ และการเตรียมการดำเนินโครงการด้านบริบท (Context) ของคณะผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และหัวหน้าโครงการ 9 โครงการ เพื่อการประเมินโครงการพัฒนาระบบการบริหารงานวิชาการโดยการขับเคลื่อนตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี พบว่า โดยรวมอยู่ระดับมากที่สุด (X ̅ = 4.71, S.D. = 0.34) ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ค่าเฉลี่ยมากกว่า 3.51 ส่งผลให้การดำเนินโครงการประสบผลสำเร็จตามเกณฑ์
2. ผลการวิเคราะห์ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) โครงการพัฒนาระบบการบริหารงานวิชาการโดยการขับเคลื่อนตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี จากการวิเคราะห์ข้อมูลคณะกรรมการด้านที่ 1 องค์ประกอบที่ 1-3 โครงการโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น (LSS) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในปีการศึกษา 2563 พบว่า โดยรวมอยู่ระดับมาก (X ̅ = 4.26, S.D. = 0.61) และมีความคิดเห็นในปัจจัยนำเข้าเกี่ยวกับความเหมาะสมของงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ บุคลากรสูงสุดซึ่งโดยรวมอยู่ในระดับมาก (X ̅ = 4.34, S.D. = 0.61) ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ค่าเฉลี่ยมากกว่า 3.51 แสดงให้เห็นว่าปัจจัยนำเข้าของโครงการมีเพียงพอต่อการดำเนินโครงการ
3. ผลการวิเคราะห์ด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process Evaluation) โครงการพัฒนาระบบการบริหารงานวิชาการโดยการขับเคลื่อนตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี จากการวิเคราะห์ข้อมูลหัวหน้าและผู้รับผิดชอบโครงการในฝ่ายบริหารงานวิชาการ บูรณาการกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในปีการศึกษา 2563 พบว่า โดยรวมอยู่ระดับมาก (X ̅ = 4.47, S.D. = 0.68) และมีความคิดเห็นในกระบวนการดำเนินงานข้อการดำเนินงานสูงสุดอยู่ในระดับมากที่สุด (X ̅ = 4.55, S.D. = 0.66) ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ค่าเฉลี่ยมากกว่า 3.51 แสดงให้เห็นว่ากระบวนการดำเนินงานของโครงการมีประสิทธิภาพ
4. ผลการวิเคราะห์ด้านผลผลิตของโครงการพัฒนาระบบการบริหารงานวิชาการโดยการขับเคลื่อนตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนเทศบาล ๕ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี จากการวิเคราะห์ข้อมูลคณะกรรมการฝ่ายประเมินผลโครงการสถานศึกษาพอเพียงท้องถิ่น (LSS) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในปีการศึกษา 2563 พบว่า โดยรวมอยู่ระดับมาก (X ̅ = 4.49, S.D. = 0.53) เมื่อพิจารณาการประเมินเป็นรายด้านพบว่า การประเมินด้านบริบทมีค่าเฉลี่ยสูงสุดเป็นอันดับแรกซึ่งโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (X ̅ = 4.71, S.D. = 0.34) รองลงมา คือ การประเมินด้านผลผลิต ซึ่งโดยรวมอยู่ในระดับมาก (X ̅ = 4.50, S.D. = 0.48) อันดับ 3 คือ การประเมินด้านกระบวนการดำเนินงาน ซึ่งโดยรวมอยู่ในระดับมาก (X ̅ = 4.47, S.D. = 0.68) และอันดับสุดท้าย คือ การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า ซึ่งโดยรวมอยู่ในระดับมาก (X ̅ = 4.26, S.D. = 0.61) ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ค่าเฉลี่ยมากกว่า 3.51 ในทุกด้านของการประเมินแสดงให้เห็นว่าโครงการมีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้