ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาชีววิทยา ที่ส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาและความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัย นางสาวกันนิภา ขอพรกลาง
สถานศึกษา โรงเรียนโนนไทยคุรุอุปถัมภ์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
กระทรวงมหาดไทย
ปีที่ศึกษา พ.ศ. 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษา สภาพ ปัญหา และความต้องการ พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาชีววิทยา 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาชีววิทยา 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาชีววิทยา และ 4) เพื่อขยายผลและประเมินการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาชีววิทยา กลุ่มตัวอย่างในการทดลองใช้รูปแบบคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2 โรงเรียนโนนไทยคุรุอุปถัมภ์ จำนวน 31 คน และกลุ่มตัวอย่างในขั้นขยายผลคือ นักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา กลุ่มที่ 3 จำนวน 54 คน เครื่องมือในการวิจัยได้แก่ การวิเคราะห์เอกสาร การสัมภาษณ์ การประชุมกลุ่มย่อย แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบวัดความสามารถในการแก้ปัญหา แบบวัดความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และแบบวัดความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลด้วย ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัย พบว่า
1. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถในพื้นฐานอยู่ในเกณฑ์ต่ำ การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ขึ้นใช้เองน่าจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ จุดเน้นที่ควรพัฒนาให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียนนอกเหนือไปจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคือ ทักษะที่เกี่ยวข้องกับศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะชีวิตและการทำงาน ทักษะการคิดและแก้ปัญหา เช่น ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาชีววิทยาที่ส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาและความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า MUSPDA Model ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาชีววิทยาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ผ่านกระบวนการคิดในการแก้ปัญหาและความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อนำมาสรุปเป็นองค์ความรู้ด้วยตนเองและสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ 2) วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาและความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 3) กระบวนการจัตการเรียนรู้ 6 ขั้นตอนคือ ขั้นที่ 1 กระตุ้นความสนใจและนำเสนอปัญหา (Motivation and Presentation) ขั้นที่ 2 ทำความเข้าใจปัญหา (Understanding) ขั้นที่ 3 ลงมือแสวงหาความรู้ (Searching ) ขั้นที่ 4 นำเสนอแลกเปลี่ยนและสรุปความรู้ (Presentation and Conclusion) ขั้นที่ 5 ตรวจสอบความรู้ใหม่(Discovering)
ขั้นที่ 6 การประยุกต์ใช้ความรู้(Applying) 4) การวัดและประเมินผล มี 3 ด้านคือ ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ 5) เงื่อนไขสำคัญในการนำรูปแบบไปใช้ให้ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ การใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาชีววิทยา เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้และใช้สถานการณ์ปัญหาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ผลการประเมินรูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญพบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด
3. ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน กลุ่มทดลอง หลังใช้รูปแบบสูงกว่าก่อนไช้ และหลังใช้รูปแบบสูงกว่าเกณฑ์(ร้อยละ 75) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีความ
พึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาชีววิทยา โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.52 , S.D.= 0.25)
4. ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน กลุ่มขยายผล หลังใช้รูปแบบสูงกว่าก่อนใช้ และหลังใช้รูปแบบสูงกว่าเกณฑ์(ร้อยละ 75) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนกลุ่มขยายผลมีความ
พึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาชีววิทยา โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.56 , S.D.= 0.25) และผลการประชุมครูกลุ่มขยายผล พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาชีววิทยา ที่เผยแพร่ให้ทดลองใช้ ช่วยให้ครูจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ นักเรียนได้เรียนรู้โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้รายวิชาชีววิทยาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ผ่านกระบวนการคิดในการแก้ปัญหา เพื่อนำมาสรุปเป็นองค์ความรู้ด้วยตนเอง