ชื่อเรื่อง รูปแบบการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ตามแนวคิดไฮสโคปเพื่อส่งเสริมความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย
ชื่อผู้วิจัย นางสาวณัฐรียา บุญเลิศ
ชื่อสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลพิบูลสวัสดีสังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครภูเก็ต
ปีที่ทำ 2565
บทคัดย่อ
รูปแบบการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ตามแนวคิดไฮสโคปเพื่อส่งเสริมความสามารถใน
การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาระดับความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัยและเปรียบเทียบความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัยก่อนและหลังได้รับ การจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ตามแนวคิดไฮสโคป กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ เด็กปฐมวัยชาย หญิงที่มีอายุ 5 6 ปี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 โรงเรียนเทศบาลพิบูลสวัสดี ได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม (Sampling unit) โดยสุ่มมา 1 ห้องเรียน จำนวน 27 คน ใช้ระยะเวลาในการทดลอง 6 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 40 นาที รวมทั้งสิ้น 30 กิจกรรม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ คู่มือการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ตามแนวคิดไฮสโคปเพื่อส่งเสริมความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัยและแผนการจัดประสบการณ์ตามรูปแบบการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ตามแนวคิดไฮสโคปเพื่อส่งเสริมความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย และแบบทดสอบวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สถิติที่ใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย
1. รูปแบบการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ตามแนวคิดไฮสโคปเพื่อส่งเสริมความสามารถใน
การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย ประกอบด้วย ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจท์ ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของบรูเนอร์ ทฤษฎีของจอหน ดิวอี้ (John Dewey) ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความสุข ทฤษฎีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด ทฤษฎีวุฒิภาวะของกีเซลล์ (Maturation Theory ) ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมของแบนดูรา ทฤษฎีการสอนแบบไฮสโคป (High/Scope) และการนำรูปแบบไปใช้ เป็นรูปแบบการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ตามแนวคิดไฮสโคปที่สร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เด็กปฐมวัย มีความสามารถการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและการคิดเชิงเหตุผล 4 ด้าน ได้แก่ ด้านความแข็งแรง ด้านความคล่องแคล่ว ด้านความยืดหยุ่น และด้านการประสานสัมพันธ์กันระหว่างมือกับตา โดยรูปแบบการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ตามแนวคิดไฮสโคปที่พัฒนาขึ้นมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 วางแผน ขั้นที่ 2 ปฏิบัติตามแผนซึ่งมีกระบวนการ 4 ลำดับ คือ กระตุ้นให้สังเกต กระตุ้นให้ตอบ เปิดโอกาสให้ลงมือปฏิบัติ เด็กแสดงความคิดเห็น และขั้นที่ 3 ทบทวน
ผลการประเมินรูปแบบการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ตามแนวคิดไฮสโคปเพื่อส่งเสริมความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัยพบว่า ในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
2. เด็กปฐมวัยหลังจากได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ตามแนวคิดไฮสโคป มีระดับความสามารถการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและการคิดเชิงเหตุผลสูงกว่าก่อนการได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ตามแนวคิดไฮสโคป