1. ความสำคัญของรูปแบบหรือแนวทางการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid - 2019) ที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้เรียนได้รับผลกระทบต่อการเรียนรู้ โดยผู้เรียนได้รับการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Online และ Onhand ดังนั้นการเรียนรู้ดังกล่าวทำให้ผู้เรียนบางคนไม่มีเทคโนโลยีที่ช่วยในการเรียน บางคนอาจไม่สามารถเรียนรู้เข้าใจได้ด้วยตนเอง เพราะนักเรียนในชั้นเรียนมีความแตกต่างทางการเรียนรู้ โดยเฉพาะทักษะการอ่าน การเขียน ซึ่งนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ยังคงมีนักเรียนที่มีปัญหาในการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จึงได้หาแนวทางแก้ไขปัญหา
จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยจึงเล็งเห็นความสำคัญปัญหาของผู้เรียน จึงสนใจที่จะสร้างนวัตกรรมแบบฝึกพัฒนาการอ่านสะกดคำ (แม่ ก กา) โดยเริ่มจากการจากการประสมคำ ระหว่างพยัญชนะ สระ เป็นพื้นฐานของการอ่านออกเขียนได้ให้กับผู้เรียน ซึ่งเป็นแบบฝึกในการสะกดคำโดยใช้สี และรูปแบบการสะกดคำแบบใหม่ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจให้กับผู้เรียนไม่เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการเรียนรู้
2. กระบวนการพัฒนารูปแบบหรือแนวทางการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา
ผู้วิจัยมีวัตถุประสงค์ของการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา (แบบฝึกพัฒนาอ่านสะกดคำ แม่ ก กา) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถอ่าน เขียน สะกดคำ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานโดยเริ่มจากง่ายไปยาก มีความคล่องจากการอ่าน เขียน คำในแม่ ก กา ได้ โดยผู้วิจัยประยุกต์การใช้ทฤษฎีของธอร์นไดค์ มาปรับในการจัดการเรียนรู้ โดยการสร้างและออกแบบพัฒนานวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา ให้เป็นการฝึกสะกดคำแบบใหม่ เพื่อให้ผู้เรียนมีความสนใจประสบความสำเร็จจากการฝึกสะกดคำ และเป็นแรงจูงใจให้ผู้เรียนอยากที่จะฝึกสะกดคำ ในระดับที่ยากขึ้นต่อไป อีกทั้งแนวคิดนี้ยังเป็นการฝึกทบทวน เน้น ย้ำ ให้กับผู้เรียนได้ทบทวนการสะกดคำ จนเกิดความคล่องและทำให้สามารถอ่านออก เขียนได้
3. กระบวนการผลิตและขั้นตอนการดำเนินงานผลงานนวัตกรรม
ผู้วิจัยมีกระบวนการดำเนินงานในการพัฒนานวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา โดยใช้กระบวนการ PDCA ดังนี้
1. ขั้นการวางแผน (P : Plan)
มีการตั้งเป้าหมายจากปัญหา และวางแผนการทำงาน กระบวนการเพื่อทำให้เป้าหมายนั้นประสบความสำเร็จ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
1) ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหา และเพื่อหาแนวทางร่วมกันแก้ไขปัญหา การอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของนักเรียนแต่ละระดับชั้น
2) ครูประจำชั้นได้ออกแบบ สร้างพัฒนานวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นแบบฝึกที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาการอ่าน การเขียน คำในแม่ ก กา
2. ขั้นการปฏิบัติงานตามแผน (D : Do)
ผู้วิจัยได้ปฏิบัติตามแผน ดังนี้
1) ศึกษาสภาพปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
2) ค้นคว้า แนวคิด ทฤษฎี มาปรับประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการอ่าน การเขียน
3) ศึกษานวัตกรรม ออกแบบ แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา
4) จัดทำนวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา
5) ลงมือปฏิบัติการใช้นวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา
3. ขั้นตรวจสอบ (C : Check)
ได้ตรวจสอบดูผลลัพธ์ของการนำนวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา ดังนี้
1) ครูประเมินผล วิเคราะห์ข้อมูลจากการทดสอบการอ่าน การเขียน ของผู้เรียนก่อนหลังการใช้นวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา
2) ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายผลจากการดำเนินงาน ในการใช้นวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา ว่ามีส่วนใดที่จะเพิ่มเติม เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการอ่าน การเขียนคำในระดับที่ยากขึ้นต่อไป
4. ขั้นการดำเนินการ/ปรับปรุงแก้ไข (A : Action)
ผลการดำเนินงานในการใช้นวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา ที่ได้ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้เกิดผลสำเร็จ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สามารถอ่าน เขียน ประสมคำ พยัญชนะ สระ ได้ ดังนั้นแล้วผู้วิจัยจะนำนวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำแม่ ก กา ไปปรับและพัฒนาการอ่าน เขียน ต่อไป