ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามแนวทฤษฎี
พหุปัญญา ร่วมกับทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการ
ทางคณิตศาสตร์ด้านการแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย : กรุณา โคตรุฉิน
ปีที่ศึกษา : 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา ร่วมกับทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ด้านการแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา ร่วมกับทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ด้านการแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา ร่วมกับทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ด้านการแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ4) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา ร่วมกับทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ด้านการแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1/3 โรงเรียนเทศบาล 1 สุขวิทยากรตั้งตรงจิตร 15 สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 38 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในประกอบด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา ร่วมกับทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ด้านการแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แบบประเมินความสอดคล้อง/เหมาะสมของรูปแบบแผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบทดสอบวัดทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ด้านการแก้ปัญหา และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test dependent samples) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ของครูผู้สอนคณิตศาสตร์ สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร คือครูสอนโดยยึดเนื้อหาในหนังสือเรียนเป็นสำคัญ และพยายามสอนให้จบเล่ม เน้นการสอนให้นักเรียนเรียนรู้เนื้อหาเน้นการท่องจำมากกว่าสอนทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ปัญหาในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ของครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ คือครูขาดเทคนิควิธีการสอนที่ส่งเสริมทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์และนักเรียนขาดทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์
ด้านการสื่อสาร การสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ และการนำเสนอ สิ่งที่ครูต้องการ คือต้องการให้นักเรียนเกิดทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ นักเรียนพยายามแสวงหาความรู้ด้วยตนเองเพิ่มเติม ครูผู้สอนคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ และต้องการพัฒนารูปแบบวิธีการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ ปัญหาในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียน คือครูสอนเสียงดัง เข้มงวดในการเรียนทำให้บรรยากาศในการเรียนตึงเครียด และทำให้เกิดความกลัวเมื่อต้องเรียนเรียนวิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนต้องการให้การเรียนรู้ที่มีบรรยากาศในการเรียนให้สนุกสนาน เช่น เล่นเกม และร้องเพลง ควรมีวิธีการเรียนรู้ ที่ไม่น่าเบื่อ และมีสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายและน่าสนใจ และศึกษาค้นคว้าเอกสาร และค้นหาคำตอบด้วยตนเอง
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีชื่อว่า S LA CA Model ประกอบด้วย องค์ประกอบ 4 องค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน และเงื่อนไขการนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ไปใช้ กระบวนการเรียนการสอน ประกอบด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ 6 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 เริ่มทบทวนเนื้อหาเดิมและกระตุ้นความสนใจ S : (Start Review previous knowledge and Motivation) ขั้นที่ 2 ขั้นเรียนรู้ทำความเข้าใจกับเนื้อหาใหม่ L: (Learning to understand new content) ขั้นที่ 3 ขั้นฝึกทักษะ A: (Action) ขั้นที่ 4 ขั้นสรุปความรู้ C: (Conclusion the knowledge) ขั้นที่ 5 ขั้นประเมินผลความรู้ A: (Assessment the knowledge)
โดยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 83.80/81.92 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80
3. หลังจากจัดการเรียนรู้ โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา ร่วมกับทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ด้านการแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ด้านการแก้ปัญหา ของนักเรียนหลังเรียน สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. ความพึงพอใจของนักเรียนต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามแนวทฤษฎีพหุปัญญา ร่วมกับทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ด้านการแก้ปัญหา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนความพึงพอใจรายด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านประโยชน์ของการจัดการเรียนการสอน